Show Menu

ข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน  (พ.ศ. ๒๕๕๕)

 

ด้วยข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้กำหนดให้มีข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกสมาคม การเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุน

 

ข้อ  ๑.     ในข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน พ.ศ. ….. นี้

“สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง” หมายความว่า สมาชิกสามัญ ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม” หมายความถึง สมาชิกสามัญ ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง โดยมีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิตามข้อบังคับของสมาคมในการดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคม และลงสมัครรับเลือกตั้ง

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุน” หมายความถึง อดีตกรรมการบริหารของสมาคมหรือ สมาชิกสามัญที่มีอดีตกรรมการบริหารของสมาคมรับรองสองท่าน ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง โดยมีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิตามข้อบังคับของสมาคมในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกองทุน และลงสมัครรับเลือกตั้ง

“คณะกรรมการเลือกตั้ง” หมายความถึง สมาชิกสามัญที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหานายกสมาคม และกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี

 

ข้อ  ๒.      “คณะกรรมการเลือกตั้ง” ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกสิบเอ็ดคน รวมเป็นจำนวนสิบสอง คน ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่คัดเลือกสมาชิกสามัญที่มิได้เป็นกรรมการบริหาร หรือกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จาก

(๑)      สมาชิกสามัญจาก อดีตกรรมาธิการสมาคมสามคน

(๒)      สมาชิกสามัญจากสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ สามคน

(๓)      สมาชิกสามัญที่ทำงานภาคราชการ สามคน

(๔)      สมาชิกที่ทำงานภาคเอกชน สามคน

และให้นายกสมาคมแต่งตั้ง เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน ตามแต่กรณี  เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการเลือกตั้ง”  มีผู้จัดการสมาคมเป็นเลขานุการ เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ตามแต่กรณี

 

ข้อ  ๓.    หน้าที่คณะกรรมการเลือกตั้ง

(๑)      ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงกำกับการนับคะแนนเลือกตั้ง ตามข้อบังคับสมาคม

(๒)      ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอัน รวมถึงการนับคะแนนเลือกตั้ง อันจำเป็นแก่การเลือกตั้งตามข้อบังคับสมาคม

(๓)      มีอำนาจสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต

(๔)      รายงานผลการเลือกตั้ง เพื่อให้นายกสมาคมประกาศผลอย่างเป็นทางการ

 

ข้อ ๔.                 ขั้นตอนในการเลือกตั้งนายกสมาคม

(๑)     ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศรับสมัคร  ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม อย่างน้อยสองร้อยเจ็ดสิบวัน  ก่อนนายกสมาคมที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จะครบวาระ  และมีระยะเวลารับสมัครสามสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร

(๒)     หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ตั้งแต่ สองคนขึ้นไป  ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง ดำเนินการเลือกตั้งโดยให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร

(๓)     กรณีที่ผู้สมัครเป็นนายกสมาคมเพียงคนเดียว หรือไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม เพื่อให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยสามคน โดยให้ดำเนินการสรรหาภายในเวลาไม่เกิน สามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร และให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันได้รับการสรรหา

(๔)    ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด  เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม

(๕)    ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมมีคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเท่ากัน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาไม่เกินสี่สิบห้าวัน นับตั้งแต่วันนับคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลง

(๖)    ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ ไม่อาจเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ  ไม่ว่าด้วยกรณีใด ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน สี่สิบห้าวัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบ

(๗)    การเข้ารับดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ  ให้นับแต่วันประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

 

ข้อ ๕              ขั้นตอนในการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุน

(๑)    ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนอย่างน้อยสองร้อยเจ็ดสิบวัน ก่อนที่คณะกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จะครบวาระ และมีระยะเวลารับสมัครสามสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร

(๒)    หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง ดำเนินการเลือกตั้งโดยให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร

(๓)    กรณีมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนน้อยกว่าห้าคน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการสรรหาผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนเพื่อให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยเจ็ดคน โดยให้ดำเนินการสรรหาภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร และให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันได้รับการสรรหา

(๔)    ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งโดยมีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก  เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุน

(๕)    ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนมีคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน จนมีผลให้ผู้มิสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนเกินกว่าห้าท่าน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ เฉพาะผู้สมัครที่มีคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน ภายในเวลาไม่เกินสี่สิบห้า วัน นับตั้งแต่วันนับคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลง

(๖)    การเข้ารับดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกองทุน  ให้นับแต่วันประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

 

ข้อ ๖.   การนับคะแนนเลือกตั้ง และสักขีพยาน

ในการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุน ตามแต่กรณี  ให้กรรมการบริหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่าสามคน เป็นกรรมการนับคะแนน  และให้มีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน  ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริหาร  กรรมการกองทุน กรรมาธิการ หรืออนุกรรมการ  ภายในกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่มาเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการกำกับการนับคะแนนเลือกตั้ง

 

ข้อ ๗.   การประกาศผลการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน

ให้คณะกรรมกรรมการเลือกตั้งแจ้งผลการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุนให้นายกสมาคมทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้นายกสมาคมดำเนินการเพื่อประกาศผลผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุน ไม่เกินสามวัน นับแต่การนับคะแนนเลือกตั้ง

 

ข้อ ๘.             การคัดค้านผลการเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีผู้คัดค้านการเลือกตั้ง  ให้ผู้คัดค้านการเลือกตั้งพร้อมสมาชิกสามัญจำนวนร่วมกันไม่น้อยกว่าสามสิบคน  ทำหนังสือคัดค้านการเลือกตั้ง  ผลการเลือกตั้ง พร้อมหลักฐานอันควรเชื่อได้  ภายในเวลาไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง

(๑)       ให้คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้งภายในเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันรับหนังสือคัดค้านการเลือกตั้ง

(๒)       คำวินิจฉัยการคัดค้านการเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้งถือเป็นที่สุด

(๓)      ในกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยยกเลิกผลการเลือกตั้ง  ให้คณะกรรมการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือกตั้งต่อไป  และดำเนินการเลือกตั้งใหม่ตามขั้นตอนของข้อบังคับฉบับนี้โดยอนุโลม