NEW FACES : JAIBAAN STUDIO จากสถาปัตยกรรมชุมชนสู่สะพานแห่งความรู้
ASA CREW ขอพาทุกคนขึ้นเหนือ บุกสตูดิโอสถาปนิกกันที่จังหวัดเชียงใหม่
เรียนรู้การทำงานออกแบบ ที่เปรียบเสมือนสะพานนำสู่ความรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เพราะเราเชื่อว่า…เมื่อคุณทำงานสถาปนิก คุณจะได้ศึกษา ทดลอง ตั้งคำถาม รวมไปถึงหาคำตอบ
พบกับความท้าทายทั้งหมด ที่เกิดขึ้นกับ “ใจบ้านสตูดิโอ” ได้แล้ววันนี้ ติดตามบทสนทนาที่ให้ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจแก่สถาปนิกรุ่นใหม่ได้ที่ : วารสารอาษาครู ฉบับ 11 NEW FACES – สถาปนิกและออฟฟิศสถาปนิกหน้าใหม่ไฟแรง…
แนวคิด/สิ่งที่สนใจหลักในการออกแบบ และหลักการทำงานของออฟฟิศ
“ใจบ้านสตูดิโอ” ให้บริการออกแบบ วางผัง และให้คำปรึกษางานทางด้านออกแบบชุมชน สถาปัตย์ ภูมิสถาปัตย์ และพื้นที่เกษตรกรรม โดยเชื่อว่างานออกแบบและวางผังที่ดีนั้นมีส่วนสำคัญในการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เป็นสตูดิโอ ออกแบบที่พัฒนามาจากงานสถาปัตยกรรมชุมชนของกลุ่ม “คนใจบ้าน” ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 แบ่งประเภทงานออกเป็น 3 กลุ่ม คืองานออกแบบ สถาปัตยกรรม งานออกแบบภูมิทัศน์และงานออกแบบเมืองที่ทำร่วมกับชุมชนและภาคีต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจในการส่งต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านการอบรมและการจัดเวิร์คช็อป เราทำงานบนปรัชญาการออกแบบและร่วมสร้างระหว่างธรรมชาติและผู้คนแบบ co-create design เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมและกระบวนการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเป็นเสมือนสะพานในความรู้ที่เรียนรู้มา เราได้ทำ ได้อยู่ ได้ทดลอง ตั้งคำถามและหาคำตอบจากงานออกแบบที่เราสร้างขึ้นมา ผ่านมาสองปีเเล้วเราก็ยังคงทดลองหาคำตอบเเละเรียนรู้มันต่อไปครับ
สถาปัตยกรรมเป็นเสมือนสะพานในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพ อันจะเป็น “ใจของบ้าน” และ “ใจของสถานที่”
ทำไมถึงมาเปิดออฟฟิศที่เชียงใหม่
เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นบ้านเกิดของผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นพื้นที่ที่มีบริบทของเนื้องานที่เราสนใจ ทั้งผู้คน เมือง และสิ่งแวดล้อมเมือง
ในการทำงานที่ผ่านมา มีโครงการไหนหรือเรื่องอะไรที่ประทับใจที่อยากเล่าให้เราฟังบ้าง
โรงคั่วกาแฟอาข่าอ่ามาเป็นโครงการที่เราประทับใจ ตั้งแต่โจทย์ที่เจ้าของมองว่าโรงคั่วกาแฟเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนกิจกรรมทางสังคมและพื้นที่ทางนิเวศน์ด้วย รวมถึงความเป็นชาติพันธ์อาข่า โครงการมีการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น ได้แก่ อิฐและไม้ ที่มา ประกอบรวมกันอย่างเป็นสากล โครงการเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของคนรุ่นใหม่และพี่น้องอาข่าอ่ามาได้เข้ามาทำงานอย่างรื่นรมย์
ต้องเตรียมตัว/ปรับตัวต่อกระแสความ เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วต่างๆ และความท้าทายใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบันอย่างไรบ้าง
ด้วยการสร้างเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกัน โดยเราต้องเข้าใจและยืนบนจุดแข็งของตัวเอง แต่ยังสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตรอื่นๆ ได้
ปัจจุบันความเข้าใจต่องานสถาปัตยกรรมและการประกอบวิชาชีพในวงการก่อสร้าง ช่างพื้นบ้าน ช่างท้องถิ่น และสังคมทั่วไป เป็นอย่างไรบ้าง
ยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก โดยเฉพาะเรื่องความสำคัญของช่างฝีมือและวัสดุพื้นถิ่น ต้องการการสืบทอดความรู้การยกระดับความรู้ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ที่จะนำมาสู่สถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานความรู้ท้องถิ่นอย่างสมสมัย
อยากฝากข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไรให้สถาปนิกรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มที่เป็นพนักงานอยู่ในออฟฟิศต่างๆ หรือทั้งกลุ่มที่อยากจะเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเอง
ในอดีตพื้นที่เรียนรู้ของเราคือห้องเรียน แต่ในความเป็นจริงนั้นที่เรียนรู้ของเราไม่มีขีดจำกัด ความไม่รู้ในเรื่องต่างๆ ทำให้เราอยากเรียนรู้และ แสวงหาคำตอบ ความสนใจและวิธีคิดนำมาสู่การแก้ไขปัญหาซึ่งจะกลายเป็นประสบการณ์ และเมื่อเราเข้าใจบริบทของโจทย์ เราจะสามารถวางตำแหน่งของตัวเองกับโจทย์นั้นๆ ได้ เมื่อเรารู้จักตัวเอง เราจะหาสนามที่จะลงเล่นได้เหมาะกับตัวเรา เมื่อเราเล่นได้อย่างมีความสุข เราจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
Founded in: 2015
Founder: Thanawin Wijitporn, Supawut Boonmahathanakorn and Praewponn Sukutsathian
Number of staff: 7