รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561

ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

1.      อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน
ที่ตั้ง เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ นายศิริชัย นฤมิตรเรขการ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง อาจารย์ศรุติ โพธิ์ไทร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และอาจารย์จตุพล อังศุเวช
ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีที่สร้าง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2497

ก่อสร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2500

ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีความแยบยลในการปรับปรุงงานระบบและเปลี่ยนวัสดุ แต่ยังแสดงองค์ประกอบเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ”

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน ได้รับการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช2497 โดยจอมพล ป. พิบูล สงคราม สร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2500 เพื่อใช้เพื่อเป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่พุทธศักราช 2500 – 2519 ต่อมามีการต่อเติมอาคารบริเวณพื้นที่ทางเดินข้างส่วนหอประชุมเพื่อใช้เป็นพื้นที่พักคอยและจัดเลี้ยงระหว่างพักการแสดง หลังจากนั้นในพุทธศักราช 2555 – 2556 มีการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การบูรณะศิลปกรรมลายปูนปั้นประดับหลังคา และการซ่อมแซมและปรับปรุงองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ชำรุดเสียหายให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ประกอบด้วย การซ่อมแซมหลังคาและมุงกระเบื้องใหม่ การซ่อมแซมและตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารทั้งหมด และเปลี่ยนระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมโดยรอบอาคารให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกด้วย

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มซุงไม้เนื้อแข็งยาว 17 เมตร อาคารกว้าง 59.40 เมตร ยาว 64.55 เมตร และสูง 24 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีประยุกต์ผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกแนวนีโอ-คลาสสิค ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างพุทธศักราช 2475 – 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย (Modernization) อาคารมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เน้นประโยชน์ใช้สอย ลดการประดับประดาหรือตกแต่งด้วยองค์ประกอบที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีลักษณะสมมาตร มีทางเข้าออก 3 ด้าน ทางเข้าหลักอยู่ทางด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกที่เชื่อมกับสระน้ำ ด้านหน้าหอประชุมเป็นอาคาร 3 ชั้น ที่เรียงลำดับความเป็นส่วนตัวจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน พื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมกึ่งสาธารณะ ประกอบด้วยห้องประชุมใหญ่ 500 ที่นั่ง ห้องนิทรรศการหมุนเวียน หอประวัติ และห้องรับรองขนาดเล็ก 2 ห้อง ตั้งอยู่ทั้ง 2 ด้านของห้องประชุมใหญ่ พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องประชุม ห้องพิธีการ ห้องจัดเลี้ยง และทางเข้าบริเวณชั้นลอยของห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 ส่วนพื้นที่ชั้น 3 เป็นพื้นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงประกอบด้วย ห้องที่ประทับ 2 ห้อง และห้องรับรองผู้ติดตามส่วนพระองค์ 2 ห้อง

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าทางศิลปกรรม คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางวิชาการ และคุณค่าทางสังคม ทำให้อาคารสามารถรักษาบทบาทการเป็นศูนย์รวมและเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างน่าชื่นชม

2.      อาคารสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา (โรงพักเก่า)
ที่ตั้ง เลขที่ 320 หมู่ที่ 4 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายฐากูร ลีลาวาปะ นายตฤณ เดี่ยวตระกูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

ออกแบบพื้นที่ภายในโดยบริษัท K2Exhibit จำกัด

ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์

ผู้ครอบครอง สถานีตำรวจภูธรสรรพยา
ปีที่สร้าง ประมาณพุทธศักราช 2444
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“เป็นการอนุรักษ์โดยชุมชนร่วมกับหลายภาคส่วนเป็นจุดเด่น และมีความถูกต้องตามหลักวิชาการอนุรักษ์สามารถคงรูปแบบเดิมไว้ได้”

อาคารสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา (โรงพักเก่า) สร้างขึ้นในสมัยของพันตำรวจเอกพระยาสกลสรศิลป์เป็นผู้บังคับการมณฑลนครสวรรค์ และพระยาศรีสิทธิกรรมเป็นนายอำเภอสรรพยา ในอดีตชาวบ้านยังนิยมเดินทางสัญจรกันไปทางเรือ โรงพักเก่าสรรพยาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ (เลขที่ดิน ชน.95) เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 47 วา จึงปลูกสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากทางเข้าตลาดสรรพยา ด้วยสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงขยายตัวมากขึ้น จึงมีการสร้างอาคารสถานีตำรวจหลังใหม่บริเวณริมคลองชลประทานใกล้กับที่ว่าการอำเภอสรรพยาตั้งแต่กลางพุทธศักราช 2530 โรงพักเก่าสรรพยาจึงได้ยุติบทบาทการรับใช้ประชาชน สภาพอาคารเริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและทางตำรวจได้ช่วยกันดูแลรักษาไว้ จนกระทั่งเกิดความร่วมมือกันระหว่างสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา เทศบาลตำบลสรรพยา ประชาชนในชุมชนตลาดสรรพยาและอำเภอสรรพยาได้ร่วมกันผลักดันจนเกิดการอนุรักษ์โรงพักเก่าสรรพยาเพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชน

อาคารสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา (โรงพักเก่า) เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงมีมุขหน้า หลังคาเป็นทรงจั่วผสมปั้นหยา หลังคามุขหน้าเป็นหลังคาจั่ว ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว เสาไม้เต็งตั้งอยู่บนเสาตอม่อก่ออิฐฉาบด้วยปูนหมักปูนตำ ฝาไม้กระยาเลย พื้นเป็นไม้ตะแบก ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวที (T) ลักษณะสมมาตร มุขหน้าเป็นระเบียงโปร่งโล่ง มีบันไดทางขึ้นทั้ง 2 ด้าน ภายในอาคารเป็นโถงโล่ง มีการแยกระดับพื้นเป็น 3 ระดับ เพื่อแบ่งการใช้พื้นที่ มีผนังปิดล้อมอาคาร 3 ด้าน ผนังแต่ละด้านมีหน้าต่างบานกระทุ้งไม้ด้านละ 4 บาน เหนือผนังมีช่องระบายอากาศเป็นไม้ระแนงตีไขว้กันโดยรอบ เสาไม้คู่ด้านหน้ามีการเซาะร่อง มีเส้นบัวไม้คาดสอดรับกับแนวช่องไม้ฉลุซึ่งเป็นลายที่ช่างในท้องถิ่นเรียกว่า “ลายนกฮูก”

อาคารสถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา (โรงพักเก่า) ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมตามหลักวิชาการโดยการรักษาส่วนประกอบของอาคารที่มีสภาพสมบูรณ์ร่วมกับการซ่อมแซมส่วนที่ผุพัง นอกจากจะใช้จัดแสดงภาพถ่ายเก่า ประวัติความเป็นมาของอาคาร และแผนที่มรดกวัฒนธรรมของชุมชนตลาดสรรพยาแล้ว อาคารหลังนี้ยังใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประเด็นการพัฒนาตำบลสรรพยา เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในชุมชนอีกด้วย

 

3.      เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ที่ตั้ง เลขที่ 340 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ พ่อคง โชตินอก และช่างพิมพ์ (ไม่ทราบนามสกุล)
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง ดร. ดุลพิชัย โกมลวานิช
ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2448
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“สามารถเก็บรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้ครบถ้วน มีองค์กรที่ค่อยจัดการดูแลให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง”

 เรือนพ่อคง ถูกสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2448 ณ หมู่บ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัวพ่อคง และแม่พุ่ม โชตินอก (ธีระโชติ) ต่อเนื่องกันมาถึง 4 รุ่น พื้นฐานครอบครัวของพ่อคงมีความร่ำรวยเนื่องจากพ่อคงเป็นคนขยันมีความมุมานะในการถากถางผืนป่ารกเพื่อสร้างผืนนาด้วยสองมือและแรงงานจากควาย เมื่อมีที่นามากบวกกับความขยันในแต่ละปีจึงทำนาได้ข้าวมาก นับได้ว่าเป็นเศรษฐีจากการทำนา เรือนหลังนี้จึงแสดงถึงจิตวิญญาณและภูมิปัญญาในอดีตของชาวนาโคราชกว่าร้อยปีมาแล้ว ต่อมาในพุทธศักราช 2559 เรือนพ่อคงได้รับการรื้อถอน ขนย้าย และปรุงขึ้นใหม่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยคณะศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อจัดสร้างให้เป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความกตัญญูต่อสถาบันการศึกษาและแผ่นดินเมืองโคราช มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น รวมถึงเป็นเรือนครูที่สามารถสะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพและปัญญาสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นโคราชได้อย่างชัดเจน

เรือนพ่อคง เป็นเรือนไม้พื้นถิ่นยกใต้ถุนสูง ลักษณะเป็นเรือนจั่วแฝดที่มีเรือนนอน 2 หลัง ขนานกัน มีชานหรือโถงกั้นกลาง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากเรือนทั่วไป ทั้งนี้ เรือนพ่อคงมีลักษณะผังเรือนและขนาดพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับเรือนสามจั่วทั่วไป แต่ด้วยความชาญฉลาดประกอบกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของช่าง จึงลดจำนวนจั่วลงจากสามจั่วเป็นจั่วแฝดที่มีขนาดเท่ากัน แต่ยังคงรักษารูปแบบผังพื้นเรือนไว้ให้ใกล้เคียงแบบเดิม คือ มี 3 ระดับ โดยขยายขนาดหลังคาจั่วแฝดให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แล้วกำหนดให้มีรางน้ำเพียงจุดเดียวบริเวณแนวกลางของโถง เพื่อบังคับทิศทางการไหลของน้ำฝนไปยังภาชนะรองรับสำหรับใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง

เรือนพ่อคง ได้รับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการด้วยการเก็บสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ขนาดขององค์ประกอบต่าง ๆ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการรื้อ ขนย้าย และปรุงขึ้นใหม่ตามตำแหน่งองค์ประกอบเดิมทั้งหมดได้ ส่วนที่ชำรุดและขาดหายจะทำขึ้นใหม่และเติมให้ครบทุกส่วน ทำให้เรือนพ่อคงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวโคราชในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ หรือพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย และที่สำคัญที่สุด คือ การมีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และอัตลักษณ์ของคนโคราชซึ่งจะมาสู่การอนุรักษ์เรือนโคราชหลังอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ประเภทอาคารพาณิชย์

4.      ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี
ที่ตั้ง บ้านเลขที่ 403, 405, 776 และ 778 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายปริญญา สมบัติวัฒนกุล
ผู้ครอบครอง สภากาชาดไทย
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2476
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“โดดเด่นในการเก็บรักษากิจกรรมการค้าดั้งเดิมและมีการใช้สอยพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ควรอนุรักษ์ซ่อมแซมเพิ่มเติมในส่วนที่ชำรุด”

 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี ก่อตั้งโดยนายบักเกว้ง แซ่เตีย เมื่อพุทธศักราช 2464 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 แรกเริ่มเดิมทีห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี เป็นเพียงบ้านไม้ชั้นเดียวเล็ก ๆ บนที่ดินหัวมุมข้างวัดมังกรกมลาวาส เริ่มต้นทำการค้าขายกระดาษไหว้เจ้า ธูปเทียน และนํ้าแข็งไส ต่อมาได้ขยายกิจการโดยนำสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าทางการเกษตรชนิดต่าง ๆ เข้ามาขายเพิ่มเติม เมื่อกิจการเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น นายบักเกว้ง แซ่เตีย และนางสาวแฉ่ง สาขากร (เจ้าของที่ดิน) จึงได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารบนที่ดินผืนนี้ ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 403 และ 405 ชั้น 1 เป็นร้านค้าปลีก ชั้น 2 และ 3 เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบ้านเลขที่ 776 และ 778 เป็นโกดังสินค้า

อาคารห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น บนพื้นที่ 47 ตารางวา รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น (Modern) ลักษณะเด่นทางภายนอกอาคาร คือ การอุปมาอุปมัย อาคารเสมือนเรือสำเภาซึ่งเป็นพาหนะขนส่งสินค้าของชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณ หัวของเรือสำเภาคือบริเวณหัวมุมอาคาร โดยเฉพาะบริเวณระเบียงชั้น 2 ตรงตำแหน่งหัวมุมจะมีลวดลายปูนมากกว่าบริเวณอื่น และเมื่อมองจากภายนอกระเบียงที่ยื่นออกมาจากแต่ละชั้นจะมีมุมองศาความเฉียงที่ไม่เท่ากัน และระยะการยื่นออกมาจากตัวอาคารก็ไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนระดับชั้นของเรือสำเภา ส่วนตัวระเบียงลูกกรงคอนกรีตชั้น 2 แต่ละช่วงจะมีเสาคู่เป็นแนวเขตกั้น ซึ่งเสาคู่เปรียบเสมือนเป็นกระโดงเรือ ส่วนระเบียงชั้น 3 และดาดฟ้าจะมีเพียงเสา 1 ต้นเป็นแนวเขตกั้นเท่านั้น ลักษณะเด่นภายในของตัวอาคาร คือ พื้นภายในปูด้วยคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดซึ่งเป็นความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของเงินตรา ในแต่ละห้องการวางองศาของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดไม่เท่ากัน มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้สึกว่าอาคารมีการเคลื่อนไหวเปรียบเสมือนการไหลเวียนของเงินตรา และเรือสำเภาได้ออกสู่ท้องทะเลเพื่อทำการค้าขาย เสาและคานทุกต้นได้รับการลบเหลี่ยมออกทั้งหมดเพื่อป้องกันการวิ่งชนหรือกระแทกของผู้อยู่อาศัย และคนงานในขณะทำการขนย้ายสินค้า หากมองในแง่ของศาสตร์ฮวงจุ้ย เหลี่ยมของเสาเปรียบเสมือนปลายหอกแหลมคมที่พุ่งเข้าใส่ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเหตุให้มีการทะเลาะเบาะแว้งหรือเกิดการเจ็บป่วยแก่ผู้อยู่อาศัย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี ได้สืบต่อกิจการค้าปลีกและดูแลรักษาอาคารไว้เป็นอย่างดี ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของชาวจีนย่านเยาวราช รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้เพื่อการศึกษาศาสตร์ทางด้านฮวงจุ้ยอีกด้วย

5.      a.e.y.space
ที่ตั้ง เลขที่ 140 – 142 ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายปกรณ์ รุจิระวิไล
ผู้ครอบครอง นายปกรณ์ รุจิระวิไล
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2463 – 2467
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีการคงรูปแบบภายนอกไว้ ส่วนภายในมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่ยังสามารถคงองค์ประกอบที่สำคัญไว้ได้ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ตึกแถวที่ปรับประโยชน์ใช้สอยเพื่อการใช้งานแบบใหม่”

 อาคาร a.e.y.space เป็นตึกแถว 2 คูหา รูปแบบสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรปบนถนนนางงาม ถูกสร้างขึ้นในยุคที่การค้าขายในเมืองสงขลาได้รับความนิยมสูงสุด ในอดีตตึกแถวคูหาหนึ่งเคยเป็น “ร้านหน่ำเด่า” ภัตตาคารอาหารฝรั่งโดยกุ๊กชาวจีน เป็นสถานที่จัดงานเต้นรำและเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนอีกคูหาหนึ่งเป็น “ร้านฮับเซ่ง” ร้านน้ำชาเก่าแก่ของเมือง ซึ่งทั้ง 2 ร้าน ทำการค้าเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกัน เป็นความสัมพันธ์ที่หาได้ยากในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารทั้ง 2 คูหา ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ทำให้เห็นถึงศิลปะการตกแต่งในแต่ละยุคสมัย ร้านหน่ำเด่ามีการตกแต่งใหม่ในยุค 1950 กรอบหน้าต่างบานใหญ่กระจกนูนสี่เหลี่ยมได้รับการเปลี่ยนทดแทนหน้าต่างบานสูงพร้อมราวระเบียงกันตกจากยุคอดีตซึ่งยังปรากฏอยู่ในตึกแถวอีกคูหาหนึ่งอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ร้านหน่ำเด่าและร้านฮับเซ่งปิดตัวลง เจ้าของตึกแถวก็ให้คนเช่าทำเป็นร้านอาหาร จนกระทั่งพุทธศักราช 2555 คุณปกรณ์ รุจิระวิไล ได้ซื้อตึกจากเจ้าของเดิมและเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศักราช 2560 โดยการรักษาโครงสร้างเดิมและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารทั้งหมดไว้

อาคาร a.e.y.space เป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหา ความยาว 25 เมตร ความกว้างคูหาละ 5 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ตารางเมตร อาคารแบ่งเป็นตึกด้านหน้าและตึกแถวด้านหลัง เชื่อมติดต่อกันโดยช่องประตูใหญ่กลางบ้าน โครงสร้างอาคารชั้นล่างเป็นผนังรับน้ำหนัก โครงสร้างอาคารชั้นบนและหลังคาเป็นไม้ ตึกแถวด้านหน้ามีช่องทางเดินใต้อาคาร (หงอคาขี่) เชื่อมตึกแถวทั้ง 2 คูหาเข้าไว้ด้วยกัน ประตูด้านหน้าเป็นบานเฟี้ยมไม้แบบเดิม มีการกั้นผนังด้วยประตูเหล็กกรุกระจกอีกชั้นด้านในเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม มีการตกแต่งด้วยคิ้วปูนบริเวณช่องหน้าต่าง และช่องลมไม้ฉลุลาย บริเวณกลางบ้านมีช่องแสงเพื่อให้ความสว่างกับพื้นที่ภายใน ด้านหลังตึกแถวมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่ส่งเสริมงานศิลปะ (Art Space) ลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) ยาวไปถึงด้านหลัง สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมและเสวนากลุ่ม ห้องเก็บของขนาดใหญ่ และห้องพักผ่อน ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนเป็นห้องพัก 2 ห้อง สำหรับศิลปินต่างถิ่นมาทำงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการมาพักและใช้ชีวิตในเมืองสงขลา และสามารถแสดงงานในพื้นที่ชั้นล่างได้

อาคาร a.e.y.space เป็นตัวอย่างของการรักษาตึกแถวเก่าโดยการปรับปรุงฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ตลอดจนการพัฒนาเมืองสงขลาในยุคที่ความเจริญรุ่งเรืองจากตะวันตกมีอิทธิพลต่ออาคารจีนพาณิชย์ เป็นตัวอย่างให้เจ้าของอาคารเก่าหลาย ๆ หลังในพื้นที่ได้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถปรับใช้อาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน

ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน

1.        คุ้มหลวงเมืองลำพูน
ที่ตั้ง ถนนอินทยงยศ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ หม่อมเจ้าทองแกมแก้ว ทองใหญ่
ผู้ครอบครอง ทายาทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์

โดยมีเจ้าสารินี (ณ ลำพูน) กลิ่นนาค เป็นผู้ดูแล

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2482
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีความครบถ้วนในส่วนองค์ประกอบอาคารที่ยังเก็บรักษาให้คงสภาพไว้ได้เป็นส่วนมาก ยกเว้นส่วนประตูทางข้างคุ้มที่สภาพแวดล้อมโดยรอบเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว หากสามารถอนุรักษ์ส่วนประกอบอื่นให้สมบูรณ์ได้จะมีคุณค่าและเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่ดีเยี่ยม”

พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (พุทธศักราช 2417 – 2486) เจ้าหลวงผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 (องค์สุดท้าย) โปรดให้สร้างคุ้มหลวงแบบอาคารตึกขึ้นแทนคุ้มหลวงหลังเดิมที่เป็นไม้ ณ บริเวณคุ้มกลางเวียง ออกแบบโดยหม่อมเจ้าทองแกมแก้ว ทองใหญ่ ผู้เป็นลูกเขย และได้ช่างชาวจีนจากกรุงเทพมหานคร มาทำการก่อสร้าง แต่ก่อสร้างไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ ช่างชาวจีนก็ขอลากลับกรุงเทพมหานครไป จึงได้ช่างพื้นเมืองชาวลำพูนมาก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ และจัดให้มีงานทำบุญฉลองคุ้มหลังใหม่เมื่อพุทธศักราช 2482เมื่อสิ้นเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ชายาและโอรสธิดาได้แยกย้ายไปอาศัยในคุ้มและบ้านพักของตน คุ้มหลวงนี้จึงว่างลงระยะเวลาหนึ่ง จนเจ้าพงษ์ธาดา ณ ลำพูน โอรส เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ลาออกจากราชการและพาครอบครัวมาอาศัยในคุ้มหลวงนี้เมื่อพุทธศักราช 2492 สืบต่อมา ปัจจุบันผู้พักอาศัยและดูแล คือ ธิดาเจ้าพงษ์ธาดา เจ้าสารินี (ณ ลำพูน) กลิ่นนาค และครอบครัว นอกจากตัวคุ้มหลวงซึ่งเป็นอาคารหลักแล้ว ภายในยังมีอาคารประกอบอื่น ๆ อีก ดังนี้

1. ครัวไฟ เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา มีบางส่วนทำเป็นดาดฟ้า มีทางเชื่อมจากชั้นสองของคุ้มหลวง เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนของเจ้า

2. อาคารหอถังสูง สำหรับเก็บน้ำและจ่ายให้อาคารได้มีน้ำใช้

3. อาคารเครื่องปั่นไฟ สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าของทางการจึงมีเครื่องปั่นไฟจ่ายไฟฟ้าให้อาคารได้ใช้

4. โรงรถ เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา มุงกระเบื้องดินขอ

5. อาคารชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา ใช้เป็นที่ตั้งพระโกศเจ้าจักรคำขจรศักดิ์

คุ้มหลวงลำพูนเป็นอาคารตึก 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมมตะวันตก หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์ (หางตัด) พร้อมหอคอยคู่รูปแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ (หางว่าว) มุขหน้าทำเป็นหน้าจั่ว มีปูนปั้นเป็นรูปช้างชูงวงสองตัว ตรงกลางเป็นรูปจักรพร้อมอักษร “จค” ซึ่งเป็นอักษรย่อของพระนามเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เสาพาไลด้านหน้าทำเป็นเสากลมขนาดเล็กพร้อมซุ้มโค้งแบบฝรั่ง โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ ฝ้าเพดานไม้ ประตูหน้าและประตูห้องต่าง ๆ ทำเป็นประตู 2 ชั้น เป็นประตูบานเปิดคู่ลูกฟักไม้บานทึบชั้นหนึ่ง และมีบานเลื่อนอีกชั้นหนึ่ง ตัวบานเลื่อนเข้าไปเก็บในช่องของผนังก่ออิฐที่ทำเป็นผนังสองชั้น และยังใช้งานได้ดีทุกบาน เครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นเครื่องเรือนเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งเจ้าพงษ์ธาดาได้เข้ามาอยู่ดูแลเมื่อพุทธศักราช 2492

คุ้มหลวงลำพูน มีคุณค่าในประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และสังคม เนื่องจากเป็นทั้งที่พำนักและที่ว่าการของเจ้าหลวงผู้นครลำพูน องค์ที่ 10 (องค์สุดท้าย) เป็นอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างอย่างทันสมัยในยุคนั้นด้วยรูปแบบอิทธิพลตะวันตกที่แพร่หลายในเมืองหลวง จัดทำระบบประปาและไฟฟ้าขึ้นใช้เอง ก่อสร้างอย่างประณีตพิถีพิถันโดยเฉพาะงานไม้ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบอาคารและเครื่องเรือน และเป็นอาคารที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการผลักดันนโยบายด้านการอนุรักษ์เมืองเก่าลำพูน เพราะเป็นความภาคภูมิใจและตระหนักของคนลำพูนที่ทุกคนต้องกล่าวถึง ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมคนลำพูน ในการรักษาคุณค่าเมืองเก่าและขับเคลื่อนนโยบายอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เมือง และชุมชนต่อไป

7.      บ้านสี่พระยา
ที่ตั้ง เลขที่ 2 ถนนทรัพย์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายกึกก้อง เสือดี นายจุฬา จิระตระการวงศ์ และนายกฤตภพ วิศาลศาสตร์
ผู้ครอบครอง นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2461
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีการปรับปรุงอาคารด้วยการยกพื้น รวมทั้งเพิ่มเติมประโยชน์ใช้สอยใหม่ โดยไม่ได้ลดทอนคุณค่าและมีความสอดคล้องกลมกลืนกับรูปแบบดั้งเดิม”

บ้านสี่พระยา สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2461 เพื่อเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัวธรรมศักดิ์ และศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของไทย และอดีตประธานองคมนตรี จนถึงพุทธศักราช 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่านสี่พระยาเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการโจมตีทางอากาศ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงหาซื้อที่ดินและสร้างบ้านในซอยภิรมย์ภักดี (สุขุมวิท 41) หลังจากท่านและครอบครัวได้ย้ายออกแล้ว บ้านสี่พระยาถูกเช่าเป็นสถานที่สอนศิลปะเด็ก และร้านอาหาร มีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ต่อมาระหว่างพุทธศักราช 2557 – 2559 นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ บุตรชายของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ปรับปรุงฟื้นฟูบ้านสี่ยาตามหลักวิชาการ และให้ร้านรับจัดดอกไม้ชื่อว่า “ร้านวิไลวรรณ” เช่าโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องดูแลรักษาอาคารให้มีสภาพสมบูรณ์

บ้านสี่พระยา เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ยกพื้นสูง 1 เมตร พื้นที่ใช้สอย 215 ตารางเมตร รูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะยุคกลางของยุโรปกับเรือนพื้นถิ่นแบบบังกะโลของเอเชีย พื้นชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีตปูด้วยกระเบื้อง พื้นชั้นบนเป็นพื้นไม้ ผังพื้นเป็นรูปตัวแอล (L) ด้านทิศตะวันออกเป็นระเบียงทั้ง 2 ชั้น ระเบียงชั้นล่างเป็นระเบียงเข้าบ้าน ด้านทิศเหนือเป็นมุขทั้ง 2 ชั้น มุขชั้นล่างเป็นโถงโล่ง มุขชั้นบนมีผนังไม้และหน้าต่างบานเปิดคู่โดยรอบ ผนังออกเป็น 3 ช่วง ช่วงล่างเป็นพนักระเบียง ช่วงกลางเป็นหน้าต่างบานคู่ และช่วงบนเป็นช่องระบายอากาศ อาคารตกแต่งด้วยช่องลมและลูกกรงระเบียงไม้ฉลุลายเรขาคณิต และลายดอกจิก หลังคาเป็นทรงปั้นหยา มีจั่วด้านหน้า ด้านมุขมีลักษณะเป็นจั่วตัดปลาย (Mansard) ทั้งหมดมุงเป็นกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว พื้นโดยรอบบ้านยกขึ้นจากเดิม 25 เซนติเมตร ทำรางระบายน้ำที่ตกจากหลังคาเชื่อมต่อไปยังรางระบายน้ำรอบที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก เนื่องจากพื้นที่เดิมมีระดับต่ำกว่าถนน และตึกแถวรอบข้าง

บ้านสี่พระยา เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเดิมเป็นหลัก มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบจนนำไปสู่การสันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมของบ้าน มีการยกพื้นบ้านให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความชื้นจากพื้นดิน ทำให้มีช่องสำหรับระบายอากาศได้ ซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างหลังคาให้แข็งแรงขึ้นเพื่อสามารถรองรับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคาแบบเดิม เปลี่ยนสีอาคารและปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยบางส่วน เพิ่มห้องน้ำในตัวอาคาร เปิดผนังบางส่วนให้เป็นโถงเพื่อรองรับกิจกรรมของผู้เช่า

ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม

8.      มัสยิดรายาสายบุรี
ที่ตั้ง ถนนบวรวิถี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ ระบุเพียงเป็นช่างชาวมินังกาเบา ประเทศอินโดนีเซีย
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง กรมศิลปากรที่ 13 สงขลา
ผู้ครอบครอง คณะกรรมการมัสยิด และเทศบาลตำบลตะลุบัน
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2428
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“เป็นตัวอย่างการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมัสยิดในภาคใต้ของประเทศไทย ที่สามารถฟื้นฟูทั้งสภาพอาคารและการใช้งานดั้งเดิม ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนในปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงานราชการและชุมชนท้องถิ่น”

พระยาสายบุรี (หนิแปะ) หรือพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีฯ เจ้าเมืองสายบุรี (ตะลุบัน) คนแรก ได้สร้างวังเป็นที่พักอาศัยและสร้างมัสยิดมีชื่อว่า”มัสยิดรายอ” เป็นมัสยิดประจำราชวงศ์ ประจำเมือง และเป็นที่ฝังศพของคนในราชตระกูลสายบุรีด้วย โดยเมื่อแรกสร้างมีเพียงตัวอาคารมัสยิดและศาลาพักรอ ภายหลังประมาณก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการรื้อศาลาออก ขยายระเบียงรอบ ๆ มัสยิด และสร้างระเบียงทางเข้ามัสยิดโครงสร้างและหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแทนศาลาที่รื้อไป แต่การต่อเติมอาคารในครั้งนั้นเกิดความผิดพลาดในด้านโครงสร้างทำให้หลังคาระเบียงทางเข้าพังลงมาและไม่อาจแก้ไขได้  หลังจากนั้น มีการสร้างมัสยิดใหม่มีชื่อว่า “มัสยิดตะลุบัน” ทดแทน และมัสยิดรายอก็ถูกปล่อยร้าง ต่อมากรมศิลปากรประกาศให้มัสยิดรายอเป็นโบราณสถานเมื่อพุทธศักราช 2544 และในพุทธศักราช 2549 กรมศิลปากรและเทศบาลตำบลตะลุบันได้ร่วมกันสำรวจ รังวัด บันทึก และจัดทำแผนอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ โดยปรับปรุงฟื้นฟูนั้นทำให้สามารถรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเหมือนกับมัสยิดเมื่อแรกสร้าง มีการฉาบผนังใหม่ด้วยปูนหมักปูนตำแบบดั้งเดิม เปลี่ยนไม้โครงสร้างที่ผุออกไป สร้างศาลาพักรอด้านหน้าขึ้นใหม่อีกครั้ง และทางเทศบาลตำบลตะลุบันได้เข้ามาเพิ่มห้องน้ำและรับเป็นผู้ดูแลมัสยิดร่วมกับกรรมการมัสยิด ปัจจุบัน มัสยิดรายอใช้ประกอบศาสนกิจและเป็นที่ตั้งของสภาวัฒนธรรมตำบลตะลุบัน

มัสยิดรายอ เป็นอาคารแบบ นูซันตารา (Nusantara) สายมลายูตะวันออก(Senibina Melayu Timur) รูปแบบนิยมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เป็นอาคารชั้นเดียว กำแพงรับน้ำหนัก หลังคาโครงสร้างไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ โถงละหมาด ระเบียงรอบ และศาลารอละหมาด มัสยิดมีการประดับประดาไมมากนัก แตที่ยอดหลังคา (Mahgota Atap) เปนปูนปนครอบไหบูดู ยอดประดับด้วยลูกแกวที่ใชในการประมงใหความโดดเดนพิเศษจากทั่วไป

มัสยิดรายอ ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปรับปรุงฟื้นฟูครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม นอกจากนี้ มัสยิดรายอ ยังเป็นส่วนสำคัญของผังเมืองโบราณสายบุรีที่ประกอบด้วย วัง มัสยิด ลานเมือง และตลาด ซึ่งยังมีอยู่ครบสมบูรณ์

ประเภทกลุ่มอาคาร

9.      กลุ่มตึกแถวในเมืองเก่าสงขลาชุดที่ปฏิบัติการอนุรักษ์โดยเกล้ามาศ ยิบอินซอย
ที่ตั้ง ถนนนครนอก ถนนนครนครใน ถนนปัตตานี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏ
ผู้ครอบครอง มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ อาร่า โดยคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย
ปีที่สร้าง ประมาณรัชกาลที่ 6
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“เป็นชุดตัวแทนความตั้งใจในการเก็บรักษา แสดงความหลากหลายของการอนุรักษ์และการใช้สอยอาคารเก่า สร้างพื้นที่กิจกรรมรูปแบบใหม่ให้เมืองเก่าสงขลา แต่โดยภาพรวมยังมีความสอดล้องและไม่ลดทอนคุณค่าสภาพเดิม”

 

จากความชื่นชอบในการถ่ายภาพอาคารเก่าและวิถีชีวิตในเมืองเก่าสงขลา คุณนภดล ขาวสำอางค์และคุณเกล้ามาศ ยินอินซอย จึงตัดสินใจซื้ออาคารเก่า 6 หลัง เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงให้เป็นบ้านพักสำหรับอยู่อาศัย พื้นที่จัดแสดงศิลปะ เป็นสถานที่เก็บงานศิลปะร่วมสมัยของคุณย่า มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยม พุทธศักราช 2494 สาขาจิตรกรรมคนแรกของประเทศไทย และต้องการอนุรักษ์อาคารเก่าและพื้นที่เมืองสงขลาเอาไว้ เพราะในอดีตคุณมีเซียมและสามีเคยมีสำนักงานธุรกิจเหมืองแร่อยู่ที่หาดใหญ่และมีความผูกพันกับเมืองสงขลา เมื่อซื้ออาคารเรียบร้อยแล้ว เจ้าของอาคารได้ตั้งชื่ออาคารใหม่ให้สอดคล้องกับบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายจีน และได้ดำเนินการบูรณะอาคารจนแล้วเสร็จ ประกอบด้วย

1. Misiem’s แกลอรีศิลปะ ถนนปัตตานี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น จำนวน 3 คูหา พื้นชั้น 1 ปูด้วยกระเบื้องดินเผา ชั้น 2 และ 3 เป็นพื้นไม้ ด้านหน้าและด้านหลังอาคารแต่ละชั้นมีระเบียง ภายหลังมีการปรับปรุงบันไดทางขึ้น และต่อเติมอาคารด้านหลังซึ่งเป็นลานโล่ง เพื่อจัดแสดงงานประติมากรรมเหล็ก ของคุณมีเซียม ยิบอินซอย ภายในอาคารแต่ละชั้นจัดแสดงงานศิลปะ และผลงานสะสมของทางมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ อาร่า

2. ตึกยับฝ่ามี ถนนนครนอก เป็นอาคารรูปแบบอาคารพาณิชย์ที่มีลักษณะแบบโมเดิร์น แต่ยังคงลักษณะและองค์ประกอบแบบสถาปัตยกรรมจีนอยู่ มีลักษณะเด่น คือ มีแผงบังหลังคา (Parapet) โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กใช้ระบบเสาคาน เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้น 1 บริเวณตรงการบริเวณเป็นลานโล่งที่มีบ่อน้ำ เมื่อมีการบูรณะปรับปรุงอาคารได้ต่อเติมบริเวณชั้น 1 โดยกั้นผนังกระจกเพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างอาคารและถนน เนื่องจากถนนชิดกับตัวอาคารบริเวณชั้น 3 ต่อเติมดาดฟ้าเพื่อเป็นห้องพักที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้

3. ตึกยับฝ่าหวุ่น ถนนนครใน เป็นอาคารที่มีทางเข้าออก 2 ด้าน ด้านถนนนครในมีลักษณะอาคารแบบบ้านจีน โครงสร้างเป็นแบบกำแพงรับน้ำหนัก ส่วนอาคารด้านถนนนครนอกมี 3 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นด้านหน้าอาคารบริเวณส่วนช่องแสง หัวเสา ระเบียง และค้ำยัน แบบตะวันตก ทั้งสองอาคารเชื่อมกันด้วยลานโล่งตรงกลาง โดยภายหลังการบูรณะปรับปรุงได้มีการต่อเสริมศาลาตรงลานกลางบ้านโดยจำลองแบบมาจากศาลาที่วัดท้ายยอเพื่อเป็นหอนั่งพักผ่อน

4. ตึกยับฝ่ากวง ถนนนครนอก มีลักษณะเป็นอาคารแบบจีนดั้งเดิม โครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนัก มีลานโล่งตรงกลางบ้านและมีบ่อน้ำ หลังคาโครงสร้างไม้มุงกระเบื้องดินผาหรือกระเบื้องเกาะยอ หน้าต่างทำช่องเปิดด้วยไม้ขนาดเล็ก ประตูเป็นแบบบานเฟี้ยม ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้

5. อาคารโกดังข้าว ถนนนครนอก เดิมเคยเป็นอาคารร้านค้า ด้านหน้าเป็นอาคารรูปแบบจีนดั้งเดิมมุงกระเบื้องดินเผา ประตูแบบานเฟี้ยม พื้นปูกระเบื้องดินเผา ภายในร้านค้ามีชั้นลอยสำหรับพักสินค้า ด้านหลังเป็นอาคารโล่งที่ยังคงสภาพและรูปแบบเดิมไว้

6. โรงกลึงเก่า ถนนนครนอก เดิมเคยเป็นโรงกลึงมาก่อน ตัวอาคารแย่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นอาคารร้านค้า โครงสร้างเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยสังกะสี ส่วนหลังเป็นส่วนลานโล่งมี 2 ชั้น ผนังโครงไม้บุด้วยสังกะสี ส่วนชั้น 2 เป็นส่วนที่พักอาคาร โครงสร้างไม้มุงหลังคาสังกะสี ภายหลังได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเพื่อสำหรับจัดกิจกรรมทางศิลปะของมูลนิธิโดยยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ มีการต่อเติมด้านหลังของอาคารซึ่งติดกับทะเลสาบสงขลา โดยเปลี่ยนเป็นผนังกระจกเพื่อให้แสงสว่างได้เข้ามาภายในอาคาร และสามารถรับลมจากทะเลสาบสงขลา

อาคารทั้ง 6 หลังถือเป็นตัวแทนความสำคัญของเมืองสงขลาในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ในฐานะเป็นเมืองบนเส้นทางการค้าที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงวิธีการอนุรักษ์และการรักษาความแท้และรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของอาคารที่สะท้อนถึงการรับวัฒนธรรมจีนมาทั้งหมดตั้งแต่รูปแบบสถาปัตยกรรม การวางผัง ที่ใช้ด้านหน้าของอาคารเป็นเรือนค้าขาย ด้านหลังใช้เป็นที่พักอาศัย และเชื่อมต่อด้วยลานตรงกลางบ้านไว้

  1. Misiem’s แกลอรีศิลปะ

2. ตึกยับฝ่ามี

3. ตึกยับฝ่ากวง

4. ตึกยับฝ่าหวุ่น

5. โกดังข้าว

6. โรงกลึง

ประเภทบุคคล

10.  นายประมุข บรรเจิดสกุล

  

ประวัติการทำงาน
พุทธศักราช 2517-ปัจจุบัน

 

ก่อตั้งบริษัทของตนเองชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง มาจากการรวมตัวอักษรตัวแรกของผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ท่าน (คุณปอ,คุณวิทย์ และคุณวิเชียร)
พุทธศักราช 2500 หนึ่งในช่างก่อสร้างศาลาไทยเมื่อครั้งงาน World Expo ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยมีหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
พุทธศักราช 2499 มีส่วนช่วยในงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมของพระพรหมพิจิตรเป็นงานแรก คือ งานก่อสร้างพระเมรุสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ผลงานการก่อสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์บางส่วนของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง

โดย คุณ ประมุข บรรเจิดสกุล

 โครงการก่อสร้างพระเมรุ และพระเมรุมาศ

  • เป็นหนึ่งในช่างผู้ทำการก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  • ก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
  • ก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)
  • ก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
    กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • ก่อสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • ก่อสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

งานก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์

  • งานก่อสร้างพระอุโบสถวัดชัยพฤกษ์มาลา
  • งานก่อสร้างและบูรณะพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร
  • งานก่อสร้างและบูรณะพระธาตุบังพวน จ.สกลนคร
  • งานก่อสร้างภายในวัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
  • งานก่อสร้างและบูรณะพระธาตุพนม จ.สกลนคร
  • งานบูรณะพระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
  • งานปรับปรุงตึกกระทรวงมหาดไทย
  • งานก่อสร้างพระตำหนักสวนสี่ฤดู อาคารเรือนแถว
  • ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ก่อสร้างพระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
  • ก่อสร้างอาคารภายใน รั้ว ประตูภายใน และภายนอกพระราชวังดุสิต
  • ก่อสร้างหมู่เรือนไทยปูนปั้น อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสงคราม
  • ก่อสร้างวิหารพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย (วิหารกลางน้ำ) วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จ.ราชบุรี
  • บูรณะพระอุโบสถ และอาคารสถานที่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
  • บูรณะคลังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (เจ้าจอมมารดาแส) พระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง
  • บูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
  • ก่อสร้างและบูรณะศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
  • บูรณะพระตำหนักทับขวัญ และอาคารพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
  • บูรณะ ซ่อมแซมพระที่นั่งวัชรีรมยา จ.นครปฐม
  • บูรณะพิพิธภัณฑ์เรือนไทยอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสงคราม
  • บูรณะและซ่อมแซมศาลเจ้าพ่อเสือ กรุงเทพมหานคร
  • บูรณะวัดราชโอรสาราม บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
  • บูรณะวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร
  • บูรณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
  • บูรณะวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี

ผลงานการก่อสร้างศาลาไทยบางส่วนของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง โดยคุณประมุข บรรเจิดสกุล

  • ก่อสร้างศาลาไทยงานแสดงพฤกษชาติ และการจัดสวนนานาชาติ ณ นคร โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
  • ก่อสร้างศาลาไทย กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • ก่อสร้างศาลาไทยที่ระลึกโอกาสครบรอบการสเด็จประพาสประเทศเยอรมัน
  • ก่อสร้างศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • ก่อสร้างศาลาไทยฉลอง 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
  • ก่อสร้างศาลาไทยฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-โปรตุเกส ประเทศโปรตุเกส
  • ก่อสร้างศาลาไทย ณ เกาะผู่โถวซาน มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน
  • ก่อสร้างศาลาไทยภายในบริเวณอนุสาวรีย์วีรกรรมทหารไทย สงครามเกาหลี เกาหลีใต้
  • ก่อสร้างศาลาไทย ณ น้ำตกดาโก เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
  • ก่อสร้างศาลาไทย ณ สวนสาธารณะพลาซ่าไทแลนเดีย กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี

ก่อสร้างศาลาไทยแบบถอดประกอบได้ ใช้ในงานเทศกาลวัฒนธรรมไทย ณ กรุงโรม
ประเทศอิตาลี

10.  รองศาสตราจารย์สมชาติ จึงสิริอารักษ์ 

ประวัติการศึกษา
1. ประกาศนียบัตร การอนุรักษ์โบราณสถานไม้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งนอร์เวย์ เมือง Trondheim พุทธศักราช 2531

2. ปริญญาโท การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ พุทธศักราช 2526

3. ปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2523

ประวัติการทำงาน
พุทธศักราช 2535 – ปัจจุบัน อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พุทธศักราช 2538 นักวิจัยรับเชิญมหาวิทยาลัยโตเกียว
พุทธศักราช 2536 นักวิจัยรับเชิญสถาบันเทคโนโลยีแห่งอาเคน (RWTH Aachen)
พุทธศักราช 2525 – 2535 รับราชการเป็นสถาปนิกกรมศิลปากร
รางวัล
1. รางวัลงานวิจัยระดับดี สาขาปรัชญาประจำพุทธศักราช 2555 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
หนังสือ
1. สมชาติ จึงสิริอารักษ์. 2540. สถาปัตยกรรมของคาร์ล ดือห์ริ่ง (The works of Karl Siegfried Dohring, Architect)

2. สมชาติ จึงสิริอารักษ์. 2553. สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔ – พ.ศ. ๒๔๘๐. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

3. สมชาติ จึงสิริอารักษ์.  พิมพ์ครั้งแรก 2544 และฉบับแปลใหม่ 2556. ความล้มเหลวของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ 

บทความทางวิชาการ
1. ปูนหมัก – ปูนตำ, 2530

2. การบูรณะสถาปัตยกรรมประดับกระเบื้องเคลือบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ระหว่างพุทธศักราช 2522 – 2535, 2535

3. แนวความคิดในการอนุรักษ์โบราณสถานในศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษ, 2537

4. ความเป็นมาของวิธีบูรณะโบราณสถานแบบ อนาสสไตโลซีสในประเทศกรีซ, 2539

5. สถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพงที่ไม่ได้สร้าง:หน่ออ่อนของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในสยาม, 2542

6. สถานีรถไฟอุตรดิตถ์:สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ยุคแรกของสยาม, 2543

7. Modern(Western style) Buildings in the Meiji Period (1868 – 1912) with Comparison to Contemporary Western Style Buildings in Siam, 2543

8. วัดกุฎีดาวหลังการบูรณะในพุทธศักราช 2544: ปัญหาจินตภาพและความถูกต้องทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม, 2544

9. จิตวิญญาณแบบไทยสมัยใหม่: ผลงานสถาปัตยกรรมแบบ Modernism ของพระพรหมพิจิตรม, 2544

10. สองศตวรรษการอนุรักษ์โบราณสถาน: จากอารมณ์และศรัทธาสู่ความเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ, 2548 11. สถาปนิกรุ่นแรก ๆ ของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร: ความสำเร็จของวันวาน ฤาคำตอบของวันพรุ่ง, 2548

12. ความเชื่อและแนวคิดในการอนุรักษ์โบราณสถานของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน, 2555

ผลงานบูรณะโบราณสถาน
1. พระนครคีรี, 2526 – 2532

2. พระราชวังรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน), 2529 – 2530

3. วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529 – ปัจจุบัน

4. หอพิสัยศัลลักษณ์ พระราชวังจันทรเกษม, 2534

5. ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์, 2535

6. สถาปัตยกรรมประดับกระเบื้องเคลือบในเขตพุทธาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, 2532 – 2540

7. ตำหนักสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ตำหนักวาสุกรี), 2536 – 2537

ผลงานออกแบบ
1. อาคารคลุมรอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี, 2531

2. หอสมุดดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ, 2532

3. โรงกระทิง – ศาลาไทย (ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์) ณ สวนสัตว์นครเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน, 2540

4. หอสมุดสมเด็จ ว.ผ.ต. (สมเด็จพระพนรัตน์ (เผื่อน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, 2544

11.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว

ประวัติการศึกษา
1. ปริญญาโท สาขา Heritage Preservation, Georgia State University ประเทศสหรัฐอเมริกา พุทธศักราช 2551

2. ปริญญาโท สาขาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2544

3. ปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2540

ประวัติการทำงาน
พุทธศักราช 2555 – ปัจจุบัน อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พุทธศักราช 2553 – 2556 เลขาธิการ สมาคมอิโคโมสไทย
พุทธศักราช 2553 – 2554 อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พุทธศักราช 2548 – 2550 สถาปนิก บริษัท Greenbergfarrow เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา
พุทธศักราช 2544 – 2548 สถาปนิก บริษัท Peter Drey + Company เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา
พุทธศักราช 2540 – 2541 สถาปนิก บริษัทภูมิวุฒิจำกัด กรุงเทพมหานคร

 

รางวัล
1. โล่เกียรติยศเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ และประกาศเกียติคุณบุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้านบริการสังคม พุทธศักราช 2559

2. รางวัล KMITL Award ประจำพุทธศักราช 2558 ประเภท รางวัลที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact Awards) โดยกองทุนวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

3. Preservation Achievement Award from Historic Preservation Division, Atlanta, Georgia, USA พุทธศักราช 2552

 

หนังสือ
1. ปริญญา ชูแก้ว และรักพล สาระนาค. 2559. 100 ปี สถานีกรุงเทพ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท โฟโต้สแควร์ แอนด์ กราฟฟิค จำกัด

2. ปริญญา ชูแก้ว. 2559. คู่มือการดูแลรักษาศาสนสถาน. ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2559. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

3. ปริญญา ชูแก้ว. 2557. การอนุรักษ์ชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของไทย: ประสบการณ์จากการทำงานภาคสนาม. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พลัสเพรส จำกัด

4. ปริญญา ชูแก้ว. 2557. เรือนพระยาศรีธรรมาธิราช. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พลัสเพรส จำกัด

บทความทางวิชาการ
1. Parinya Chukaew and Chotewit Pongsermpol. 2013. Participatory Heritage Buildings Conservation Guidelines Case Study of Buildings on Wanit Bamrung Road, Sawi District, Chumphon Province. Proceeding of ICOMOS Thailand International Conference 2013 “Asian Forgotten Heriatge”. pp. 190 – 203

2. ปริญญา ชูแก้ว. 2557. การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์บริเวณชุมชนตลาดเก่าท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 11 กันยายน 2557 – ธันวาคม 2557. หน้า 152 – 175

3. ปริญญา ชูแก้ว. 2554. การอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของไทย. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 8 กันยายน 2554 – สิงหาคม 2555. หน้า 178 – 197

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของย่านชุมชนเก่าและอาคารสถานีรถไฟร่วมกับเครือข่ายการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในหลายลักษณะสำหรับประชาชน นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน โดยฐานข้อมูลอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ในโครงการต่าง ๆ นั้นสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับกรมศิลปากรในการพิจารณาขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เจ้าของอาคารใช้เป็นข้อมูลในการปกป้องรักษาอาคารของตนจากการถูกทำลายจากโครงการพัฒนาในอนาคต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปรับปรุงย่านประวัติศาสตร์และจัดทำแนวทางการพัฒนาอาคารหรือการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นพิเศษเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของอาคารที่มีคุณค่าร่วมกันก็จะนำมาซึ่งการหาหนทางในการอนุรักษ์และพัฒนาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

สำหรับหนังสือ และบทความทางวิชาการ สามารถใช้อ้างอิงเกี่ยวกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ (Historic Preservation) รูปแบบสถาปัตยกรรม การตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของย่านชุมชนเก่าและอาคารสถานีรถไฟ ส่วนการจัดนิทรรศการ “ย่านเก่า…เล่าเรื่อง” การจัดทำโปสการ์ดย่านชุมชนเก่าและอาคารสถานีรถไฟ การบรรยายพิเศษ และการให้สัมภาษณ์กับสื่อสารมวลชนนั้นถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมไทยซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของการเริ่มต้นรักษามรดกทางวัฒนธรรม และสามารถเก็บรักษา ฟื้นฟู และต่อยอดเพื่อให้มรดกเหล่านี้กลับมามีชีวิต เพื่อแสดงความเป็นชาติ คุณค่า และเอกลักษณ์ของตนเองได้อย่างเด่นชัด

รางวัลควรค่าแก่การอนุรักษ์ ประจำปี 2561

ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

1.      อาคารพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนดาราวิทยาลัย (บ้านเขียว)
ที่ตั้ง เลขที่ 196 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ มิสเตอร์พอล โรเซล
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง นายอนุพร อินทะพันธ์ และอาจารย์ชยันต์ หิรัญพันธ์
ผู้ครอบครอง โรงเรียนดาราวิทยาลัย มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2466
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มุขที่เคยต่อเติมไว้ในยุคหนึ่งและวัสดุกับรูปแบบหน้าต่างสมัยใหม่ทำให้เสียรูปทรงและรูปแบบดั้งเดิม ควรได้รับการอนุรักษ์คืนสภาพหรือออกแบบให้เหมาะสมกลมกลืน”

โรงเรียนดาราวิทยาลัย (Dara Academy School – DARA) เป็นโรงเรียนของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย และเป็นโรงเรียนหญิงแห่งแรกในภาคเหนือ ก่อตั้งโดยนางโซเฟีย บรัดเลย์  แมคกิลวารี (Sophia Royee Bradley Mcgilvary) เมื่อพุทธศักราช 2418 โดยใช้บ้านพักของตนเองเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนในระยะแรก ต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง (Chiengmai Girls’ School) อย่างเป็นระบบในพุทธศักราช 2422 โดยนางสาวเอ็ดน่า ซาราห์ โคล (Miss Edna Sarah Cole) และนางสาวแมรี่ มาร์กาเร็ตต้า แคมป์เบลล์ (Miss Mary Margaretta Campbell) โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงซึ่งเป็นที่ตั้งของคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยนักเรียนหญิงของนางโซเฟีย บรัดเลย์  แมคกิลวารี ก็ได้ย้ายมาเรียนอยู่ที่นี่ด้วย หลังจากนั้นโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อตามนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2452 ว่า “โรงเรียนพระราชชายา” ซึ่งเป็นพระราชอิสริยยศของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2466 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนดาราวิทยาลัยแผนกประถม” และจัดตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นที่บ้านหนองเส้ง (ที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน) ใช้ชื่อว่า “ดาราวิทยาลัย” ตามพระนามของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการสร้างอาคารเรียน และบ้านพักของมิชชันนารีที่เข้ามาทำพันธกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในพุทธศักราช 2511 โรงเรียนดาราแผนกประถมได้ย้ายมารวมกับโรงเรียนดาราวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน โดยบ้านพักมิชชันารีหลังหนึ่งนั้นได้ใช้เป็นเป็นบ้านพักผู้อำนวยการ และสถานที่ประชุมตั้งแต่พุทธศักราช 2525 ปัจจุบันคือ อาคารพิพิธภัณฑ์ (บ้านเขียว) ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

อาคารพิพิธภัณฑ์ (บ้านเขียว) โรงเรียนดาราวิทยาลัย เชียงใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น ผนังอิฐรับน้ำหนัก ยกพื้นสูง 1 เมตร โครงสร้างพื้นเป็นไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นทรัส (Truss) ไม้ หลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีพื้นที่ประมาณ 285.35 ตารางเมตร ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Style) ที่ถูกดัดแปลงให้เข้าสภาพแวดล้อมท้องถิ่น โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกปรากฏอยู่ที่ผังพื้นที่แบ่งพื้นที่ห้องออกเป็นสัดส่วน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องอ่านหนังสือ มีปล่องไฟ (Chimney) รวมทั้งการเจาะช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง (Arch) แต่มีเฉลียงเพื่อรับลม และชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝนในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น

อาคารพิพิธภัณฑ์ (บ้านเขียว) โรงเรียนดาราวิทยาลัย เชียงใหม่ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อพุทธศักราช 2552 เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย การบูรณะเกิดขึ้นด้วยเหตุคณะกรรมการบริหารภายในโรงเรียนได้เล็งเห็นว่าควรอนุรักษ์บ้านเขียวให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการสืบสานอนุรักษ์ไว้และเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและบุคคลทั่วไป

ประเภทอาคารพาณิชย์

2.      อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง แสงฟ้า มีจงมี)
ที่ตั้ง เลขที่ 89-105ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง รองศาสตราจารย์ ดร. สมพล ดำรงเสถียร
ผู้ครอบครอง 1. นายบัญชา  รัตนวิภาพงศ์       ร้านจี่อันตึ้ง

2. นายบุญลิ้ม  ดำรงเสถียร         ร้านแสงฟ้านาฬิกา

3. นายประเสริฐ  อยู่ยืน            ร้านมีจงมี

ปีที่สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างระหว่างพุทธศักราช2453 – 2476
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีส่วนต่อเติมลักษณะเพิงบริเวณดาดฟ้า ซึ่งไม่กลมกลืนและทำให้ลดทอนคุณค่าของรูปแบบสถาปัตยกรรม และควรมีการอนุรักษ์ภายในอาคารเพิ่มเติม”

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) ไม่ปรากฏปีที่สร้าง แต่จากเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดนครราชสีมาพบภาพอาคารในภาพถ่ายขบวนทหาร ทำขวัญเมือง ขณะเดินขบวนผ่านประตูชุมพล เข้าในตัวเมืองนครราชสีมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 (ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสิ้นสุดลง และทำให้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2477) และจากคำสัมภาษณ์ของเจ้าของอาคารและทายาท สันนิษฐานว่าอาคารสร้างขึ้นในช่วง 84 – 107 ปี ที่ผ่านมา อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) มีการใช้งานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่หลากหลาย เริ่มต้นจากโรงแรมสำหรับผู้เดินทางมาค้าขายในตัวเมืองนครราชสีมา มีทางขึ้นเล็ก ๆ ไปยังดาดฟ้าคอนกรีตซึ่งเปิดเป็นบาร์ชื่อ ริเวอร์ร่า โรงแรมนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็นร้านขายนาฬิกาแสงชัย ภายใต้เจ้าของอาคารใหม่ซึ่งเป็นแขกซิกห์ ชื่อ อายีตซิงห์ นารูลา สัญชาติ อินเดีย ต่อมาได้ขายให้กับเจ้าของปัจจุบันในช่วงพุทธศักราช 2519 เพราะต้องการเดินทางกลับประเทศจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย หลังจากเปลี่ยนเจ้าของอาคาร อาคารถูกใช้เป็นร้านขายยาจี่อันตึ้ง ร้านมีจงมี และบริษัท คิงส์ทัวร์ ซึ่งให้บริการรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 เจ้าแรก ๆ ของจังหวัด วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ภายหลังเปลี่ยนเป็นร้านนาฬิกาแสงฟ้าจนถึงปัจจุบัน

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ลักษณะสมมาตร รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น (Modern) ภายหลังมีการต่อเติมชั้น 3 บนโครงสร้างอาคารเดิม อาคารบริเวณหัวมุมโดดเด่นด้วยระเบียงยื่น อาคารตกแต่งด้วยปูนปั้นบริเวณใต้หน้าต่าง ค้ำยัน หัวเสา คาน และช่องระบายอากาศ ประตูและหน้าต่างเป็นไม้สักบานกรอบไม้ด้านในเป็นเกล็ดเปิดเพื่อระบายอากาศ มีช่องแสงเกล็ดไม้ด้านบน หน้าต่างทุกชุดมีเหล็กกลมฝังในวงกบเสริมด้วยโครงไม้เนื้อแข็งเพื่อป้องกันขโมย ชั้น 2 ของอาคารมีความสูง 4 เมตร เป็นห้องโถงโล่ง มีช่องเกล็ดระบายอากาศที่ความสูง 3.20 เมตร พื้นและตงเป็นไม้สัก ชั้นล่างปูกระเบื้องลายขาวดำ

อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) เป็นหนึ่งในแนวคิดการอนุรักษ์ย่านการค้าเก่า “จอมพลถนนหัวมังกร” ของเทศบาลนครนครราชสีมาและกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน มีการจัดกิจกรรมในย่านถนนจอมพล ซ่อมแซมอาคารที่ทรุดโทรม การรวบรวมข้อมูล รูปภาพเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ ปรับปรุงสีอาคารให้เป็นเอกลักษณ์โดยใช้สีเหลือง (ผนัง) สีเขียว (ประตู หน้าต่าง) และสีขาว (บัวปูนปั้น) ในอัตราส่วน 70 – 20 – 10 อาคารพาณิชย์ (จี่อันตึ้ง – แสงฟ้า – มีจงมี) กลายเป็นแรงผลักดันให้อาคารต่าง ๆ บนถนนจอมพลได้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริม อนุรักษ์และช่วยกันปรับปรุงอาคาร เพื่อฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาของถนนจอมพลให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน

3.      บ้านหมื่นมณีมโนปการ
ที่ตั้ง ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ สร้างโดยช่างชาวจีนชื่อ กิต และภรรยาชื่อ ทิม
ผู้ครอบครอง ทายาทของเจ้าของเรือน โดยมีกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของลูกทั้ง 6 คน เป็นผู้ดูแล ประกอบด้วย

1. นายอุทร กมลงาม 2. นายสล้าง น้อยมณี 3. นางรัชนีวรรณ คล้ำชื่น

4. นางอนงค ์สมบูรณ์ยิ่ง 5. นางวัลภา พรกฤษฎา 6. นางสาววริยา ศิริวัฒน์

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2482
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีการดูแลรักษาสภาพอาคารได้ดี ควรได้รับการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด ส่วนต่อเติมควรใช้วัสดุและรูปแบบที่ดูกลมกลืนและส่งเสริมคุณค่าของอาคารเดิม”

 

รองอำมาตย์ตรีหมื่นมณีมโนปการ (ตาด น้อยมณี) ชาวอำเภอพิชัย มาแต่งงานกับนางตะขาบ ชาวบ้านบ้านแก่ง และเริ่มสร้างบ้านหลังนี้เมื่อพุทธศักราช 2479 โดยช่างชาวจีนชื่อ กิต และภรรยาชื่อ ทิม ทำกันเพียง 2 คน ใช้ไม้สักทองทั้งหลัง ซึ่งเป็นไม้ในที่ดินของรองอำมาตย์ตรีหมื่นมณีมโนปการเอง การก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี จึงแล้วเสร็จ เนื่องจากขนาดของตัวเรือนที่สูงใหญ่และกว้างยาวเกินสัดส่วนของเรือนพักอาศัยทั่วไป เพราะท่านนำแบบมาจากที่ว่าการอำเภอตรอนในสมัยนั้น ประกอบกับต้องการสร้างหลังใหญ่เพราะมีลูกหลานมาก จะได้นอนกันได้สบาย ชาวบ้านในยุคนั้นจึงเรียกว่า “บ้านใหญ่” ต่อมาลูกชายคนโตชื่อ บรรลือ ได้รับราชการจนได้เป็นนายอำเภอ ประจำอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ และได้มาอยู่ดูแลบ้านหลังเกษียณอายุราชการ ชาวบ้านจึงเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านนายอำเภอบรรลือ” จนทุกวันนี้

บ้านหมื่นมณีมโนปการ เป็นอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ ยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง ตัวเรือนทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาปั้นหยามุงสังกะสี มีมุขหน้าทำเป็นจั่ว มีเครื่องไม้ประดับยอดจั่วและปั้นลมแบบเรือนขนมปังขิงเสารับเรือนเป็นเสาปูนหล่อในที่ มีการลบมุมและปั้นบัวหัวเสา ฝาไม้เป็นแบบตีแนวนอนซ้อนเกล็ด บางส่วนของผนังภายในทำเป็นบานเฟี้ยมเต็มช่วงเสาให้เปิดโล่งได้ ลูกฟักบานเฟี้ยมเป็นไม้ทึบ ตอนบนทำเป็นลายบานเกล็ดไม้หลอก ไม่มีช่องระบายลมจริง ยอดฝาทำช่องระบายลมเป็นซี่ระแนงโปร่ง ทั้งฝาภายนอกและภายใน

ปัจจุบัน บ้านหมื่นมณีมโนปการ ไม่มีผู้พักอาศัย แต่ทายาทได้บำรุงรักษาไว้อย่างดีด้วยความภาคภูมิใจ ไม้ไม่มีผุหรือร่องรอยแมลงกัดกินเนื้อไม้ หลังคาสังกะสียังไม่ได้เปลี่ยนได้ซ่อม แต่ก็ไม่มีการรั่วซึม พื้นที่ภายในจัดเป็นนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นของบ้านและตระกูลน้อยมณี โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีส่วนกระตุ้นให้สังคมได้เห็นค่าของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้คงอยู่สืบไป

ประเภทชุมชน

4.  ชุมชนตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า
ที่ตั้ง ชุมชนตลาดใหญ่ และชุมชนเสนานุช อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“ควรสนับสนุนให้มีมีกิจกรรมและกระบวนการของชุมชนที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมืองเก่าตะกั่วป่าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม”

เมืองตะกั่วป่าหรือเมืองตะโกลา เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองเอกราชของประเทศศรีวิชัย ต่อมาเมื่อประมาณพุทธศักราช 1832 ชนชาติไทยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแคว้น สุวรรณภูมิ และมีอำนาจมากขึ้นจนตีได้เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วป่า หลังจากนั้นเมื่อพุทธศักราช 2437 ได้แบ่งการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑลและจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นกับ มณฑลภูเก็ต ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองตะกั่วป่าจึงถูกลดลำดับความสำคัญลง จากจังหวัดตะกั่วป่าเป็นอำเภอตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงาเมื่อพุทธศักราช 2475 โดยศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมือง หลังจากนั้นในวันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ พุทธศักราช 2480 มีการจัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่าครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลตลาดเหนือ ตำบลตลาดใต้ และตำบลย่านยาว

เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของการทำเหมืองแร่ดีบุกของประเทศไทยในช่วงพุทธศักราช 2500 ปัจจุบันแร่ดีบุกลดน้อยลง ประกอบกับย่านเมืองเก่าประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าซบเซา ลูกหลานไปเรียนและทำงานในเมืองใหญ่ ผู้ที่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบอาชีพค้าขายในพื้นที่และเกษตรกรรมในพื้นที่ข้างเคียง อย่างไรก็ตาม พบว่าย่านเมืองเก่าตะกั่วป่ายังสามารถรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเอาไว้ได้ ดังนี้

1. ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ติดแม่น้ำตะกั่วป่าที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน

2. ความหลากหลายของสถาปัตยกรรม ประกอบด้วยเรือนแถวค้าขาย โรงภาพยนตร์ บริษัทเหมืองแร่ ร้านทอง โรงแรม กำแพงเมืองเก่า จวนผู้ว่า ศาลเจ้าพ่อกวนอู บ้านขุนอินทร์ และโรงเรียนเต้าหมิง (โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรก) สำหรับเรือนแถวค้าขายแบ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมได้ 3 รูปแบบ คือ 1) เรือนแถวค้าขายรูปแบบจีนดั้งเดิมตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณถนนอุดมธารา 2) เรือนแถวรูปแบบจีนผสมตะวันตกบริเวณถนนศรีตะกั่วป่าซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจชุมชน  เป็นรูปแบบที่นิยมแพร่หลายในเมืองท่าบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ในสมัยนั้น 3) เรือนแถวประยุกต์ที่มีลักษณะเฉพาะที่พัฒนารูปแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น ทางเดินหน้าอาคารที่กว้างขึ้น(ประมาณ 3 เมตร โดยทั่วไป 1.5 เมตร) ช่องหน้าต่างและลวดลายประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนนิยามได้ว่า“เรือนแถวเมืองตะกั่วป่า”

3. อดีตความรุ่งเรืองของเหมืองแร่ ยังมีร่องรอยของเหมืองโบราณ โรงถลุงแร่ และเครื่องจักรจำนวนมาก

4. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเมืองที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วยคนพื้นเมือง คนจีนลูกผสมที่เรียกว่า “บาบ๋า” ที่มีความโดดเด่นที่ถ่ายทอดผ่านทางเครื่องแต่งกาย อาหาร ภาษาพูด และประเพณีต่าง ๆ ที่เด่นชัด คือ ประเพณีถือศีลกินผัก และการแห่พระที่สืบทอดมายาวนานกว่า 150 ปี

จากความหลากหลายของมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ทำให้ในพุทธศักราช 2558 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้ประกาศเขตย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ 0.33 ตารางกิโลเมตร ชุมชนตลาดใหญ่ และชุมชนเสนานุช และมีแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีจุดมุงหมายเพื่อทำให้ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว รวมถึงการทำให้ลูกหลานชาวตะกั่วป่ากลับมาพัฒนาบ้านเกิด