รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2560

1.รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร

อาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

1.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จังหวัดปทุมธานี

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ตั้ง     สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ Kiso Kurokawa Architect & Associates และ บริษัท Shimizu Construction Company
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์ / ปรับปรุง อาจารย์อภินันท์ พงศ์เมธากุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ครอบครอง สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2527

 

สถาบันญี่ปุ่นศึกษาจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพุทธศักราช 2524 ต่อมาได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้นเป็น “Area Study” ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านกรมวิเทศสหการ โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก ฯพณฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ อดีนายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ ยาสึฮิโระ นากาโซเน่ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2526 ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศส่งคณะสำรวจมาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ภายหลังจากที่ได้รับรายงานจากคณะสำรวจแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นมูลค่า 1,150 ล้านเยน หรือ 115 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็น “สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2527 และเสด็จมาทำพิธีเปิดอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2528 และต่อมาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษาจึงเป็นที่ตั้งของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาในปัจจุบัน

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ล้อมรอบสนามหญ้า สวน บ่อน้ำ และบ้านญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการออกแบบโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ผสมกับการก่อสร้างแบบสมัยโบราณ คือ ได้มีการนำเอารูปแบบอาคารที่เรียกว่า Shinden Zukuri (ชินเด็น ซูคุริ) ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่พักอาศัยของพวกขุนนางชั้นสูงของญี่ปุ่นในสมัยโบราณมาผสมผสานเข้ากับรูปแบบอาคารวัดพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Garan Haichi (กะรัง ไฮชิ) คือ เป็นลักษณะของการที่มีอาคารอยู่ตรงกลาง มีอาคารอีกสี่ด้านอยู่ล้อมรอบ โดยมีระเบียงเชื่อมระหว่างอาคารต่าง ๆ และมีบ่อน้ำ ส่วนบ้านญี่ปุ่นซึ่งภายในห้องตกแต่งแบบญี่ปุ่น ใช้สำหรับพิธีชงน้ำชา และทำพิธีอื่น ๆ

อาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเรื่อยมา ถึงแม้จะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยในพุทธศักราช 2554 แต่ก็ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูจนสามารถรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และพื้นที่โดยรอบแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม  ส่วนการใช้สอยภายในก็มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น      

2. อาคารอำนวยการ McKean House โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

อาคารอำนวยการ (บ้านแมคเคน) โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่
ที่ตั้ง โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ เลขที่ 13 ถนนเชตุพน ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
ผู้ครอบครอง โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2449

โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ (Chiang Mai International School – CMIS) เป็นโรงเรียนของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย และเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาคริสตจักรในประเทศไทยได้เชิญมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนให้กลับมาร่วมงานกับสภาคริสตจักรฯ หลังจากที่ต้องอพยพออกจากประเทศไทยเนื่องจากสงคราม ซึ่งคณะมิชชันนารีดังกล่าวได้ตอบรับโดยทันที เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีโรงเรียนที่บุตรของมิชชันนารีจะเข้าเรียนได้ มิชชันนารีจึงสอนเองที่บ้านหรือส่งไปเรียนในต่างประเทศ เช่น ประเทศพม่า เป็นต้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศพม่า คณะมิชชันนารีไม่อาจส่งบุตรไปเรียนต่อไปได้ ในพุทธศักราช 2491 คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นได้ตั้งกรรมการเพื่อศึกษาถึงความต้องการโรงเรียน และได้เปิดโรงเรียนสอนครั้งแรกในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2492 ต่อมาในพุทธศักราช 2500 โรงเรียนได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันซึ่งเป็นบ้านพักของมิชชันนารี อาคารเรียนไม้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและ เริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2501 และใช้ชื่อโรงเรียนว่า “Chiangmai Children’s Center” (CCC) ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ และมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้ลงนามความตกลงในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้ง และมอบหมายให้มูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารกิจการของโรงเรียน และให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่” หรือ “Chiang Mai International School” มีชื่อย่อว่า “CMIS” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2528

อาคารอำนวยการ (บ้านแมคเคน) โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ เป็นอาคารผนังอิฐรับน้ำหนัก โครงสร้างพื้นและหลังคาเป็นไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีพื้นที่ประมาณ 550 ตารางเมตร โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอเมริกันโคโลเนียล ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2449 บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันต่าง ๆ ที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน เพื่อเป็นบ้านพักของ นพ. เจ ดับบลิว แมคเคน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และผู้ก่อตั้งนิคมโรคเรื้อนแมคเคน ต่อมาใช้เป็นบ้านพักของมิชชันนารีที่เข้ามาทำพันธกิจในเชียงใหม่หลายครอบครัวก่อนที่จะได้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2500 ซึ่งได้ใช้อาคารดังกล่าวเป็น บ้านพัก หอพัก และห้องเรียน ปัจจุบันอาคารอำนวยการ (บ้านแมคเคน) ใช้เป็นห้องทำงานของผู้บริหารห้องประชุม และห้องทำงานแผนกต่าง ๆ ของโรงเรียน

อาคารอำนวยการ (บ้านแมคเคน) โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พุทธศักราช 2559 ในวาระที่อาคารมีอายุครบ 110 ปี ทั้งนี้อาคารดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมอาคารชั่วคราวครั้งก่อนหน้านี้จากความเสียหายจากเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อพุทธศักราช 2527 โดยในการบูรณะครั้งล่าสุดนี้คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้อนุมัติให้ทำการปรับปรุงส่วนที่เสียหายจากอายุการใช้งาน และเปลี่ยนวัสดุและสีให้กลับเป็นเมื่อครั้งแล้วเสร็จตามหลักฐานที่ปรากฏ รวมถึงการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาโดยคงรูปแบบไว้ดังเดิม ตามที่ผู้บริหารอันได้แก่ อาจารย์พัชรินทร์ จริงเข้าใจ (ผู้จัดการ) อาจารย์มนุญวัฒนา ศิริสุจินต์ (ผู้อำนวยการ) และอาจารย์เจมส์ ซูซ่า (ครูใหญ่ฝ่ายต่างประเทศ) ได้นำเสนอ โดยมอบหมายให้ อาจารย์พีร์ ตนานนท์ (ผู้ช่วยผู้จัดการ) เป็นผู้ออกแบบ กำหนดรูปแบบอาคารวัสดุ และควบคุมการดำเนินการบูรณะ

3. อาคารอำนวยการ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย  กรุงเทพมหานคร

อาคารอำนวยการ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
ที่ตั้ง     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ
การบูรณะ พุทธศักราช 2490 อาจารย์จรัญ สมชนะ ได้ควบคุมการซ่อมแซมอาคารอำนวยการครั้งใหญ่ เนื่องจากอาคารได้รับความเสียหายจากช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยยังคงรูปแบบไว้ตามเดิม ต่อมาในพุทธศักราช 2508 ได้มีการซ่อมแซมส่วนหลังคาของอาคารอีกครั้ง จากนั้นในพุทธศักราช 2551 อาจารย์สมศักดิ์ รัตนเชาว์ เป็นผู้อำนวยการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร และได้มีการซ่อมแซมอาคารมาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วงพุทธศักราช 2559 – 2560 อาจารย์นราธิป ทับทัน (สถาปนิก) อาจารย์ปัทมาภรณ์ สว่างวงษ์ (มัณฑนากร) และอาจารย์พู่กัน สายด้วง (สถาปนิก) ได้ดำเนินงานและควบคุมการบูรณะซ่อมแซมอาคาร
ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2483 – 2484

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย เปิดการเรียนในพุทธศักราช 2476 โดยมีอาจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาในพุทธศักราช 2483 ทางโรงเรียนได้เริ่มก่อสร้างอาคารอำนวยการซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกของโรงเรียน โดยใช้ครูอาจารย์ของโรงเรียนเป็นผู้ฝึกฝนดูแลนักเรียนช่างก่อสร้างรุ่นแรก ๆ เป็นแรงงานในการก่อสร้าง ตามเทคนิควิธีและวัสดุก่อสร้างที่หาได้ในยุคสมัยนั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อาคารในพุทธศักราช 2484 หลังจากเข้าใช้อาคารดังกล่าวได้ไม่ถึง 1 ปี ประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดสถานที่โรงเรียนสำหรับใช้เป็นที่ทำการและที่พักในช่วงสงคราม จนกระทั่งในพุทธศักราช 2489 ทางโรงเรียนจึงได้รับมอบสถานที่คืนอย่างเป็นทางการ โดยโรงเรียนมีสภาพเสียหายอย่างหนัก ทว่าอาคารอำนวยการเป็นอาคารเพียงไม่กี่หลังของโรงเรียนที่รอดจากการถูกทิ้งระเบิด หลังจากนั้นอาคารถูกใช้เป็นสำนักงานบริหารของโรงเรียนเรื่อยมาจนกระทั่งโรงเรียนยกระดับเป็นวิทยาลัย ต่อมาในราวพุทธศักราช 2533 – 2534 ได้มีการย้ายสำนักงานบริหารไปยังอาคาร 7 ที่สร้างขึ้นใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมาอาคารอำนวยการได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร 1 และถูกใช้เป็นที่ทำการสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย โดยชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นห้องประชุมยังเป็นที่เก็บอัฐิปูชนียบุคคลของวงการช่างก่อสร้าง ครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเอาไว้อีกด้วย

อาคารอำนวยการ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างพื้นและหลังคาเป็นไม้  หลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องลอน รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น (Modern) อาคารมีลักษณะเรียบเกลี้ยง รูปทรงเชิงเรขาคณิตเป็นก้อนทึบแน่น มีแนวเสาอิงผนังเป็นเส้นตั้งคู่กับช่องหน้าต่างทางตั้ง มีกันสาดแผ่นบาง ๆ ยื่นคลุมเหนือหน้าต่าง ภายในอาคารประดับอาคารด้วยประติมากรรมนูนต่ำซึ่งเป็นลักษณะของอาคารแนวอาร์ต เดคโค (art deco)  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารอำนวยการได้รับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด การดำเนินการบูรณะครั้งล่าสุดในระหว่างพุทธศักราช 2559 – 2560 ได้สำรวจรังวัดอาคารดังกล่าวด้วยวิธีการ VERNADOC (Vernacular Architecture Documentation) สำหรับบันทึกสภาพปัจจุบันและใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำคัญก่อการซ่อมแซมอาคาร จากนั้นได้ทำการบูรณะและซ่อมแซมพื้นผิวอาคาร ซึ่งแล้วเสร็จในช่วงต้นพุทธศักราช 2560 โดยรักษารูปแบบและบริบทแวดล้อมโดยรวมของอาคารดั้งเดิมเอาไว้

อาคารพาณิชย์

  1. ร้านสิริบรรณ จังหวัดตรัง
ร้านสิริบรรณ
ที่ตั้ง     เลขที่ 257 – 9 ถนนราชดำเนิน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ผู้ครอบครอง นายนิรันดร์ พิตรปรีชา
ปีที่สร้าง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ร้านสิริบรรณ ก่อสร้างโดยนายกำเตรา จรูญทรัพย์ ผู้ซึ่งเคยค้าขายกับเมืองปีนัง เมื่อกลับมาทำงานที่ตรัง และได้แต่งงานกับภรรยา จึงได้สร้างบ้านที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมของปีนัง ด้วยการจำรูปแบบแล้วให้ช่างท้องถิ่นในเมืองทับเที่ยงสร้าง ส่วนนายกำเตราเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยการใช้รูปแบบประตูหน้าต่าง การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มีลานเอนกประสงค์ (ภาษาจีนฮกเกี้ยน เรียกว่า ฉิ่มแจ้) และบ่อน้ำ ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ ได้เป็นต้นแบบให้กับตึกแถวบริเวณโดยรอบในภายหลัง วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน เหล็ก นำเข้าจากเมืองปีนังโดยขนส่งทางเรือ ลูกกรงไม้บริเวณหน้าต่าง นายกำเตราได้รูปแบบมาจากปีนัง แล้วสั่งทำที่กรุงเทพมหานครก่อนที่จะส่งมายังทับเที่ยง ส่วนพื้นไม้และผนังใช้ไม้สักเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความทนทานเป็นอย่างดี เดิมอาคารมีโครงคร่าวผนังไม้กั้นระหว่างสองช่วงเสาเพื่อแบ่งให้เช่า ต่อมาเมื่อทางผู้ครอบครองอาคารได้รวมอาคารทั้งสองช่วงเพื่อขยายกิจการ จึงได้เอาโครงคร่าวผนังไม้ออก ประตูด้านหน้าอาคารชั้นหนึ่งเปลี่ยนจากประตูบานเฟี้ยมเป็นประตูเหล็กยืด เพื่อความสะดวกในการค้าขาย บริเวณลานเอนกประสงค์มีหลังคาคลุมเพื่อป้องกันฝนสาด มีการทาสีอาคารใหม่เมื่อพุทธศักราช 2557 ปัจจุบันชั้นล่างบริเวณด้านหน้าใช้เป็นพื้นที่ขายเครื่องเขียน ชั้นบนเป็นที่เก็บของ ส่วนด้านหลังใช้เป็นพื้นที่เก็บของ ห้องพัก และส่วนครัวที่ยังมีการใช้เตาไฟแบบโบราณ

ร้านสิริบรรณ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมของถนนราชดำเนินซอย 1 มีทางเข้าหลักติดกับถนนราชดำเนิน ลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ผังพื้นอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) จีน และสมัยใหม่ (Modern) เช่น การเน้นหน้าบันและตกแต่งลวดลายปูนปั้นภายใน การก่อผนังล้อมขอบหลังคา การออกแบบลานเอนกประสงค์ที่มีบ่อน้ำซึ่งถือคติความเชื่อจากชาวจีน และการออกแบบหลังคาคอนกรีตแบน เป็นต้น ซึ่งการออกแบบมีการประยุกต์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในเขตร้อนชื้นของภาคใต้ที่มีฝนตกชุกและแดดแรง โดยการใช้หลังคาพื้นคอนกรีตบริเวณด้านหน้าอาคาร และบริเวณหน้าต่างชั้นหนึ่งด้านข้างอาคารเพื่อเป็นการบังแดดและฝน หรือการออกแบบช่องลมและการใช้หน้าต่างบานเกล็ดเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก และให้แสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร

ร้านสิริบรรณเป็นตัวอย่างของการรักษาตึกแถวเก่าไว้ได้อย่างน่าชื่นชมทำให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และการพัฒนาเมืองทับเที่ยงรวมทั้งทำให้เจ้าของอาคารเก่าหลายๆหลังในพื้นที่เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์อาคารแทนการรื้อถอน

เคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน

1.บ้านเวฬุวัน          จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเวฬุวัน
ที่ตั้ง     เลขที่ 47/6 หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ คุณกี นิมมานเหมินท์ โดยการเลือกแบบแปลนบ้านจากแคตาล๊อกต่างประเทศ
ผู้ครอบครอง ทายาทนายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2475 – 2480 

บ้านเวฬุวัน เดิมเป็นสวนป่าและไม้ดอกตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 7 กิโลเมตร เจ้าของ คือ นายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ซึ่งทั้งสองได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่เมื่อประมาณช่วงพุทธศักราช 2470 เพื่อพัฒนาเป็นสวนปลูกผลไม้และพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากนางกิมฮ้อพอใจสวนแห่งนี้มากเพราะตั้งอยู่บนเนินเขามีสภาพธรรมชาติงดงาม มีลำธารไหลผ่านกลางสวน ในเวลาต่อมานายกี และนางกิมฮ้อตกลงสร้างบ้านพักแบบแคลิฟอร์เนียในสวนแห่งนี้ โดยนายกีเป็นผู้คัดเลือกแบบแปลนบ้านจากแคตาล๊อกต่างประเทศและปรับปรุงแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศตามสมควร มีช่างก่อสร้างเป็นคนจีนฝีมือดีจากกรุงเทพมหานคร ส่วนวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ และเหล็ก เป็นต้น ขนส่งมาจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ นอกจากเป็นบ้านพักอาศัยของตระกูลนิมมานเหมินท์แล้ว บ้านเวฬุวันยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเป็นที่พักของ Mr. Harrold Mason Young มิชชันนารีชาวเอมริกัน ซึ่งเช่าเป็นที่พักอาศัยระหว่างพุทธศักราช 2493 – 2500 ขณะที่มาทำสวนสัตว์แห่งแรกในเชียงใหม่ นอกจากนี้บ้านเวฬุวันยังเคยใช้เป็นสถานที่เจรจาการวางอาวุธระหว่างทหารพันธมิตรกับญี่ปุ่นอีกด้วย

บ้านเวฬุวัน เป็นบ้าน 2 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงปั้นหยา ผนังไม้สัก พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น และครัว ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง ห้องเสื้อผ้า และระเบียง 2 ด้าน ถือได้ว่าบ้านเวฬุวันเป็นบ้านแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ระหว่างพุทธศักราช 2470 – 2480 นอกเหนือจากบ้านของเจ้านายฝ่ายเหนือ เช่น คุ้มเจดีย์กิ่ว คุ้มเจ้าราชบุตร และคุ้มรินแก้ว เป็นต้น ที่ก่อสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอาคารทั้งหมดต่างได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านเวฬุวันได้รับการดูแลรักษาให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด  บริเวณบ้านยังคงสภาพสวนป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสวนป่าตามธรรมชาติที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ที่สุดแห่งหนึ่ง และเนื่องจากสวนแห่งนี้มีต้นไผ่มากจึงตั้งชื่อว่า “สวนเวฬุวัน” ตามพุทธประวัติ

2.บ้านตานิด           จังหวัดปทุมธานี

บ้านตานิด
ที่ตั้ง     เลขที่ 40 หมู่ 2 ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อ
ผู้ครอบครอง ครอบครัว “เจริญไทยทวี”
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2492
บ้านตานิด ถูกสร้างขึ้นโดย อุบาสิกาสมปอง เจริญไทยทวี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณชุมชนตลาดน้ำ “บ้านกระแชง” ซึ่งมีเรือนแพค้าขายรียงรายอยู่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำ โดยบ้านที่สร้างขึ้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยและดำเนินกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคของครอบครัว “เจริญไทยทวี” รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชลล์ (shell) ให้แก่เรือโดยสารและเรือรับจ้างทั่วไปในละแวกนั้น ซึ่งกิจการการค้านับว่ารุ่งเรืองมากในสมัยนั้น จนกระทั่งมีถนนตัดผ่านส่งผลให้วิถีชีวิตชาวตลาดน้ำ รวมทั้งแพปั๊มน้ำมันและการค้าขายของครอบครัวเจริญไทยทวีเริ่มสูญหายไปพร้อมกับความเจริญที่เข้ามาแทนที่ตั้งแต่พุทธศักราช 2523 ต่อมาบุตรชายคนโต คือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี และบุตรชายคนรอง คือ กำนันวาณิช เจริญไทยทวี เป็นผู้ได้รับมรดกดูแลบ้านสืบทอดมาและส่งต่อมาจนถึงทายาทรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน หลังจากผ่านน้ำท่วมใหญ่ระหว่างพุทธศักราช 2553 – 2554 บ้านหลังนี้ก็ถึงคราวต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่จากสภาพบ้านที่ใหญ่โตกว้างขวางเกินจำนวนของผู้อยู่อาศัยที่ต่างก็แยกย้ายกันไป ประกอบกับความต้องการของทายาทที่อยากให้บ้านมีชีวิตชีวา และได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว “บ้านตานิด” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นห้องพักมาตรฐานจำนวน 5 ห้อง ภายใต้แนวคิด ง่าย ๆ สบาย ๆ แบบบ้านเรา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2559 หลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูอยู่ราว 3 ปีเศษ ตั้งแต่ปลายพุทธศักราช 2555

บ้านตานิด เป็นบ้านไม้สักทอง 2 ชั้น หลังคาจั่ว โครงสร้างเป็นเสาไม้จำนวน 300 ต้น รองรับตัวบ้าน พื้นที่ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องพักจำนวน 5 ห้อง โถงกลาง ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และโถงบันได ด้านหน้าที่ติดแม่น้ำมีระเบียงไม้กว้างโดยรอบ พื้นที่ชั้นบนแบ่งเป็นห้องนอนของเจ้าของบ้านจำนวน 3 ห้อง พร้อมระเบียงไม้ ราวกันตกและลูกกรงเป็นไม้ ผนังภายนอกอาคารเป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดตามนอน บานประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมไม้ ส่วนหน้าต่างเป็นบานไม้เปิดคู่ เหนือประตูและหน้าต่างมีทั้งที่เป็นช่องลมและกระจกสี การตกแต่งภายในใช้เครื่องเรือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ งานจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเน้นเฉพาะไม้ไทยและไม้หอม เช่น ลำดวน คัดเค้า ยี่หุบ  ประยงค์ แก้วเจ้าจอม ปริศนา ราตรี และสายหยุด เป็นต้น

บ้านตานิด แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงฟื้นฟูที่สามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้ และส่วนต่อเติม เช่น ห้องน้ำ ครัว และพื้นที่นอกชานก็ได้รับการออกแบบที่เหมาะสม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ถือเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ทำให้เห็นถึงร่องรอยประวัติศาสตร์ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง วิถีชีวิต และสังคมของชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา

ปูชนียสถานและวัดวาอาราม

1.พระวิหารลายคำสุชาดา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

พระวิหารลายคำสุชาดา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ที่ตั้ง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ผู้ครอบครอง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ปีที่สร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่บนเนินดินสูง สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1223 สมัยพระเจ้าอนันตยศ เดิมมีนามว่า “วัดพระแก้วดอนเต้า” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดพระแก้ว” เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเวลานานถึง 32 ปี ก่อนที่จะย้ายไปประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ในพุทธศักราช 2011 สมัยพระเจ้าติโลกราช วัดพระแก้วดอนเต้าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 ต่อมาในพุทธศักราช 2527 ได้รวมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดาราม ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระแก้วดอนเต้าอีกวัดหนึ่งให้เป็นวัดเดียวกัน แล้วเรียกวัดแห่งนี้ใหม่ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม สำหรับพระวิหารลายคำสุชาดา สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จากแผ่นป้ายไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าบันภายในพระวิหารก็มีการกล่าวถึงประวัติของพระวิหารหลังนี้ ความว่า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ พ.ศ. ๒๔๖๓ จ.ศ. ๑๒๘๒ ปีวอก เดือน ๕ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ศรัทธาส่างอะริยะ แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตร์ทุกคนได้สละทรัพยสร้างพระวิหารฺ โบสถฺ กำแพงฺ กุฏิ ได้ยกถวายเป็นทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ จ.ศ. ๑๒๘๔ ปีจอเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้บริจาคทรัพย์ รวมทั้งสร้างพระเจดีย์เป็นเงิน ๓๙๓๔๐ บาท” จากประวัติที่เขียนอยู่บนแผ่นป้ายนี้ ตรงกับสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ต่อ ๆ มา หากประวัติที่กล่าวว่าพระวิหารหลังนี้สร้างโดยเจ้าวรญาณรังสีจริงนั้น แสดงว่าในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้มีผู้ศรัทธา(แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตรทุกคน) ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารใหม่ ปัจจุบัน พระวิหารลายคำสุชาดาใช้เป็นที่ทำบุญตักบาตร เจริญวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของช่างในอดีตที่ยังคงรักษาอนุรักษ์รูปแบบเดิมซึ่งเหลือเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดลำปาง

พระวิหารลายคำสุชาดา เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นครึ่งปูนครึ่งไม้ กว้าง 12 เมตร ยาว 27 เมตร ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก โครงสร้างพระวิหารเป็นแบบ “ม้าตั่งไหม” ที่มีการถ่ายทอดน้ำหนักจากหลังคาวิหารลงมาตามส่วนของขื่อต่าง ๆ ลงสู่เสาและหลังคาปีกนกด้านล่าง 2 ข้าง ซึ่งเป็นลักษณะอาคารที่จำเพาะกับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ส่วนของหลังคาเป็นการยกซ้อนของไม้เป็นสามชั้นสามระดับ เพื่อประกอบเป็นหลังคาของห้องประธาน ส่วนหน้าซ้อนสามชั้น และส่วนหลังซ้อนกันเป็นสองชั้น มีเสารองรับหลังคาทั้งหมด การประกอบส่วนของหลังคาทั้งหมดใช้ลิ่มไม้เป็นตัวยึด ไม่มีการใช้ตะปู เสาและขื่อเขียนลายทองในเป็นที่มาของชื่อวิหารลาย(ทอง)คำ ขื่อและโครงรับจั่วหลังคาซ้อนกันเหมือนวางซ้อนเก้าอี้ หลังคาไม่มีเพดานทำให้เห็นกระเบื้องดินเผา พื้นที่ภายในพระวิหารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนประธานเป็นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธสีหะเชียงแสน ระหว่างห้องประธานและส่วนหน้ามีฝาปิด ตามเสาและขื่อลงรักดำ (ฮัก) และชาด (หาง) ปิดทองเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ฝาผนังเป็นเรื่องราวในชาดก และเรื่องนรก ส่วนหลังคาลาดต่ำ หน้าต่างด้านขวาแคบเล็ก หน้าต่างด้านซ้ายเป็นลูกกรงลูกมะหวด การทำหน้าต่างแคบในลักษณะเช่นนี้เพื่อรักษาความอบอุ่นของอาคารในหน้าหนาว ด้านหน้าประกอบด้วยราวบันได และสิงห์ปูนปั้นคู่ประดับเหนือบานประตู

พระวิหารลายคำสุชาดา ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการอนุรักษ์ศาสนสถานที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตแบบล้านนา และวัฒนธรรมของภาคเหนือได้เป็นอย่างดี สามารถรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระวิหารซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม

2.โวทานธรรมสภา วัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี

อาคารโวทานธรรมสภา
ที่ตั้ง วัดเชิงท่า ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ผู้ครอบครอง วัดเชิงท่า
ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2464

อาคารโวทานธรรมสภา สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2464 ครั้งสมัยพระครูสมณคุต เป็นเจ้าอาวาส เพื่อเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดลพบุรี ต่อมาในพุทธศักราช 2468 สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาคและได้เสด็จมา ณ อาคารหลังนี้ด้วย หลังจากนั้นราวพุทธศักราช 2490 อาคารได้ถูกยกเลิกการใช้งานเนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรม ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อพุทธศักราช 2531 แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอนุรักษ์แต่อย่างใด จนมาถึงในสมัยของพระครูโสภณธรรมรัต (อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า) ท่านได้เห็นถึงความสำคัญและต้องการที่จะอนุรักษ์อาคารไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษาโดยยังไม่ได้กำหนดหน้าที่ใช้สอยอาคารหลังการปรับปรุงฟื้นฟู แต่ท่านต้องการรีบอนุรักษ์ให้เสร็จก่อนเนื่องจากอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ผนวกกับคำแนะนำของ อาจารย์ภูธร ภูมะธน (ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี ในช่วงเวลานั้น) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารในพุทธศักราช 2550 และการดำเนินการแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา

อาคารโวทานธรรมสภา เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง ประมาณ 1.70 เมตร เพื่อระบายอากาศและลดความชื้นที่ขึ้นมาจากดิน และเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมอาคารเนื่องจากวัดเชิงท่าตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี ตัวอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลักทั้งในส่วนฝาผนังภายนอกและภายใน ประตู หน้าต่าง พื้น และฝ้าเพดานเป็นไม้ ตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันตกที่เรียกว่าแบบเรือนขนมปังขิง สำหรับการอนุรักษ์ใช้วิธีการ ปรับปรุงและนำกลับมาใช้สอยใหม่ (Adaptive Reuse) เพื่อให้อาคารแข็งแรงทนทาน รองรับประโยชน์ใช้สอยใหม่ โดยการรักษาโครงสร้างไม้เดิมไว้เพื่อยึดโครงสร้างหลังคาและพื้นอาคาร มีการก่อกำแพงบริเวณใต้ถุนอาคารเนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม โดยไม่ได้ยกอาคารขึ้นเพราะต้องการรักษาสัดส่วนความสูงของอาคารเดิมไว้ โดยเลือกใช้วิธีลดระดับพื้นดินในเขตอาคารลงเพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก อาคารกว้าง 9 เมตร ยาว 20 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 320 ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยชั้นบนเป็นที่กราบเคารพบูชาพระครูโสภณธรรมรัต และพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุ ส่วนพื้นที่ใต้ถุนอาคารจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และจัดแสดงศิลปวัตถุต่อไปในอนาคต

อาคารโวทานธรรมสภา ถือเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม โดยทางวัดได้รับเงินบริจาคเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูจำนวนทั้งสิ้น 3.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากแรงศรัทธาของชาวชุมชนวัดเชิงท่าและชาวลพบุรี ส่วนการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารได้รับความร่วมมือจากทหารช่างในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ดำเนินการร่วมกับผู้รับเหมาท้องถิ่น ทำให้อาคารโวทานธรรมสภาสามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และสังคมในฐานะพื้นที่แห่งการรวมศูนย์และยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัตถุสำหรับคนท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมเยือน ทำให้เกิดความตระหนักรู้และสนับสนุนการรักษาศาสนสถานอีกด้วย

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทชุมชน

1   กลุ่มเรือนแถวไม้ชุมชนตลาดหล่มเก่า            จังหวัดเพชรบูรณ์

อาคารโวทานธรรมสภา สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2464 ครั้งสมัยพระครูสมณคุต เป็นเจ้าอาวาส เพื่อเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดลพบุรี ต่อมาในพุทธศักราช 2468 สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาคและได้เสด็จมา ณ อาคารหลังนี้ด้วย หลังจากนั้นราวพุทธศักราช 2490 อาคารได้ถูกยกเลิกการใช้งานเนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรม ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อพุทธศักราช 2531 แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอนุรักษ์แต่อย่างใด จนมาถึงในสมัยของพระครูโสภณธรรมรัต (อดีตเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า) ท่านได้เห็นถึงความสำคัญและต้องการที่จะอนุรักษ์อาคารไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษาโดยยังไม่ได้กำหนดหน้าที่ใช้สอยอาคารหลังการปรับปรุงฟื้นฟู แต่ท่านต้องการรีบอนุรักษ์ให้เสร็จก่อนเนื่องจากอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ผนวกกับคำแนะนำของ อาจารย์ภูธร ภูมะธน (ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี ในช่วงเวลานั้น) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารในพุทธศักราช 2550 และการดำเนินการแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา

อาคารโวทานธรรมสภา เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง ประมาณ 1.70 เมตร เพื่อระบายอากาศและลดความชื้นที่ขึ้นมาจากดิน และเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมอาคารเนื่องจากวัดเชิงท่าตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี ตัวอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลักทั้งในส่วนฝาผนังภายนอกและภายใน ประตู หน้าต่าง พื้น และฝ้าเพดานเป็นไม้ ตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันตกที่เรียกว่าแบบเรือนขนมปังขิง สำหรับการอนุรักษ์ใช้วิธีการ ปรับปรุงและนำกลับมาใช้สอยใหม่ (Adaptive Reuse) เพื่อให้อาคารแข็งแรงทนทาน รองรับประโยชน์ใช้สอยใหม่ โดยการรักษาโครงสร้างไม้เดิมไว้เพื่อยึดโครงสร้างหลังคาและพื้นอาคาร มีการก่อกำแพงบริเวณใต้ถุนอาคารเนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม โดยไม่ได้ยกอาคารขึ้นเพราะต้องการรักษาสัดส่วนความสูงของอาคารเดิมไว้ โดยเลือกใช้วิธีลดระดับพื้นดินในเขตอาคารลงเพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก อาคารกว้าง 9 เมตร ยาว 20 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 320 ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยชั้นบนเป็นที่กราบเคารพบูชาพระครูโสภณธรรมรัต และพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุ ส่วนพื้นที่ใต้ถุนอาคารจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และจัดแสดงศิลปวัตถุต่อไปในอนาคต

อาคารโวทานธรรมสภา ถือเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม โดยทางวัดได้รับเงินบริจาคเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูจำนวนทั้งสิ้น 3.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากแรงศรัทธาของชาวชุมชนวัดเชิงท่าและชาวลพบุรี ส่วนการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารได้รับความร่วมมือจากทหารช่างในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ดำเนินการร่วมกับผู้รับเหมาท้องถิ่น ทำให้อาคารโวทานธรรมสภาสามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และสังคมในฐานะพื้นที่แห่งการรวมศูนย์และยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัตถุสำหรับคนท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมเยือน ทำให้เกิดความตระหนักรู้และสนับสนุนการรักษาศาสนสถานอีกด้วย

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบุคคล

1. นายมาระกุ มัตติลา (Markku Mattila)        ประเทศฟินแลนด์

Mr.Markku Mattila

สถาปนิกชาวฟินแลนด์ผู้มีคุณูปการต่อการบันทึกมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย

มาระกุ มัตติลา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และสถาปนิกชาวฟินแลนด์ ที่เชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ผ่านกระบวนการสำรวจรังวัด ผู้พัฒนาวิธีการบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมซึ่งสามารถทำได้โดยง่าย แต่ได้คุณภาพในระดับสูงที่เรียกว่า VERNADOC และสร้างเครือข่ายของคนทำงานด้านนี้ในรูปแบบของอาสาสมัครนานาชาติ โดยประเทศไทยได้รับเอาเทคนิค VERNADOC นี้มาใช้อย่างหลากหลายมากที่สุดเมื่อเทียบกับเครือข่ายทั่วโลก ผ่านการจัดค่ายฝึกอบรมของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในนาม ASA VERNADOC และสถาบันการศึกษาที่สอนวิชาสถาปัตยกรรม

          นอกจากจะรับเชิญเป็นวิทยากรเพื่อฝึกอบรมให้ ASA VERNADOC ในปี พ.ศ. 2550 แล้ว มาระกุยังอาสาสมัครร่วมค่าย VERNADOC ในประเทศไทยด้วยตัวเองอีกถึง 3 ครั้ง ได้แก่ Thai VERNADOC 2007, RSU VERNADOC 2013 และ ASCC VERNADOC 2014 โดยมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเครือข่ายในประเทศไทยที่สนใจได้นำไปปรับใช้ให้กว้างขวางเป็นประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          นอกจากนี้ยังเป็นผู้สนับสนุน และเปิดโอกาสให้กับผู้เคยผ่านค่าย VERNADOC จากประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมงานในระดับสากลผ่านคณะกรรมการวิชาการอิโคโมสสากลว่าด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (ICOMOS-CIAV) ทั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และอาสาสมัครทุกครั้งที่จัดค่าย CIAV VERNADOC ได้แก่ CIAV VERNADOC 2010, Sweden, CIAV VERNADOC 2012, UAE., และ CIAV VERNADOC 2013, Portugal ยังผลให้อาสาสมัครจากไทยได้รับประสบการณ์ที่มากพอ จนสามารถรับเป็นเจ้าภาพจัดค่าย CIAV VERNADOC 2015, Thailand ได้อย่างภาคภูมิ

          จากหลักการทำงานด้วยวิธี VERNADOC ที่มาระกุได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนรวม 4 ขั้นตอน คือ 1. การจัดค่ายสำรวจรังวัดและเขียนแบบ 2 สัปดาห์ในพื้นที่ 2. การจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่ 3. การจัดสัมมนา 1 วัน และ 4. การจัดพิมพ์ผลงานเผยแพร่ ได้ผลักดันให้เครือข่ายในประเทศไทยทำการสำรวจรังวัด จัดนิทรรศการ และตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ กันอย่างแพร่หลายจนได้รับความสนใจจากสังคม อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นที่ประจักษ์ว่าวิธีการทำงานที่เขาได้พัฒนาขึ้นนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะมีส่วนช่วยสังคมไทยในการธำรงรักษาความรู้จากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทยให้ยั่งยืนสืบไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ปีเกิด
2495                  ที่เมือง Tampere ประเทศฟินแลนด์
ประวัติการศึกษา
2539-2540 ศึกษาหลักสูตรการปกป้องและการบูรณะตึก มหาวิทยาลัยแทมเปเร ประเทศฟินแลนด์ (TUT)
2538-2539 ศึกษาหลักสูตรการพัฒนาเทคโนโลยีของเรือนไม้ ที่เรโนวา (องค์กรด้านการศึกษา)
2536 ศึกษาการออกแบบเรือนไม้ด้วยเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม ณ SAFA (สมาคมสถาปนิกชาวฟินนิช)
2533     สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งกรุงเฮลซิงกิ
ประวัติการทำงาน
2550-ปัจจุบัน อาจารย์ที่ University of Industrial Arts Helsinki (UIAH, today in AU)
2544-ปัจจุบัน อาจารย์และนักวิจัยที่ Tampere University of Technology (TUT)
2536- ปัจจุบัน อาจารย์และนักวิจัยที่ Helsinki University of Technology (HUT, today Aalto University, AU)
2519-2536 สถาปนิกหลายบริษัทในประเทศฟินแลนด์
สมาชิก
1. สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council of Monuments and Sites (ICOMOS)

2. Talonpoikaiskulttuurisäätiö (สถาบันวัฒนธรรมชนบท ณ ประเทศฟินแลนด์)

3. Pyöreän Tornin Kilta (เข้าร่วมเครือข่ายนักเรียน HUT ในสมาคมทางด้านวัฒนธรรม)

รางวัล
1. CIAV Award, (Architects – school pupil’s co-operation team in Ruovesi Finland) ในปี 2550

2. Wood of Finland – international competition, shared main award (working team) ในปี 2539

หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์
1. ITALAIN VERNADOC 2558

2. Pre VERNADOC 2545, (in co-operation with Aaro Söderlund)

3. Maramures VERNADOC 2555, (in co-operation with Laura Zaharia)

4. KYLÄKOULUT, Finn VERNADOC 2554

5. CIAV VERNADOC 2553

6. KIVINAVETAT, Finn VERNADOC 2552

7. Ruovesi-Murole ympäristöelokuu, Finn VERNADOCs 2006 and 2550

8. VERNADOC 254

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น  ประเภทองค์กร

1.กองทุนอนุรักษ์วัฒนธรรมเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย         กรุงเทพมหานคร

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านกองทุนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (The U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation (AFCP) ซึ่งกองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นในพุทธศักราช 2544 โดยมีจุดประสงค์ให้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้สนับสนุนงบประมาณตั้งแต่ 10,000 – 200,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมหรือการเก็บบันทึกข้อมูลทางวัฒนธรรมที่อาจจะสูญหายได้ โดยการสนับสนุนแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามหลักเกณฑ์การอนุรักษ์ระดับสากล ดังนี้

  1. พื้นที่ทางวัฒนธรรม เป้าหมายคือการอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์และสถานที่ทางโบราณคดี รวมถึงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์
  2. โบราณวัตถุหรือทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยไม่ใช่เพียงการจัดเก็บวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ แหล่งขุดค้น หรือภาพเขียน ประติมากรรม และจารึกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการอนุรักษ์อย่างถูกวิธีที่ประกอบด้วยการประเมินคุณค่าและคำนึงถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมในการวางแผนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ด้วยการเก็บหรือจัดแสดงไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงการฝึกอบรมพิเศษในการดูแลวัตถุ
  3. รูปแบบของการแสดงออกทางวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาษา และงานศิลปะพื้นเมือง โดยใช้การบันทึกในรูปแบบของเอกสารและโสตวัสดุเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่วัฒนธรรมในวงกว้าง เพื่อเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างยั่งยืนก่อนที่จะสูญหายไป

ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านโครงการต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ อาทิเช่น

  1. งานอนุรักษ์และบริหารจัดการเพิงผาบ้านไร่และเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์เพิงผาทั้งสองแห่งในเขตที่ราบสูงของไทยซึ่ง เต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมและมีระบบนิเวศที่เปราะบาง
  2. การสำรวจและลงบันทึกอาคารทางประวัติศาสตร์บนถนนเจริญกรุงด้านทิศเหนือ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึก ประเมินคุณค่า และเสนอแนวทางอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของไทยซึ่งอาจสูญหายไปเนื่องจากแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินในย่านที่เก่าแก่และมีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
  3. โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่จังหวัดมหาสารคาม โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมชาวบ้านท้องถิ่นให้มองเห็นคุณค่าและรู้จักรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดโพธาราม และวัดป่าเรไร ซึ่งจะช่วยให้ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไปเพื่อเล่าขานเรื่องราวแก่ชนรุ่นหลัง
  4. โครงการบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมแบบอิสลามในภาคใต้ของไทย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทางภาคใต้ที่มีคุณค่าด้วยการสำรวจ บันทึก และจัดนิทรรศการเพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไม้แบบอิสลามที่ได้รับอิทธิพลจากชวาและบาหลี และอาคารก่ออิฐถือปูนที่มีซุ้มประตูโค้งแบบโกธิคหรือออตโตมัน (เติร์ก) ในยุคหลัง ๆ

     5. โครงการอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนัง วัดบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระรูปหนึ่งได้วาดภาพเหล่านี้ไว้ในพุทธศักราช 2478 ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ถือว่ามีความโดด              เด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย